“เสนา”หนุนโซลาร์ภาคประชาชนแปลงแสงแดดให้เป็นเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 26, 2019 16:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--มาเธอร์ ครีเอชั่น โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์ภาคประชาชนที่อยู่ระหว่างการเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟตั้งแต่ 24 พ.ค.เป็นต้นมาและจะปิดลงทะเบียนปลายปีนี้ โดยกำหนด รับซื้อไว้ระยะแรก 10ปี (ปี 62-71) รวม 1,000 เมกะวัตต์ด้วยการทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์นำร่อง ในปี 2562 เป็นปีแรก โดยแบ่งพื้นที่การรับซื้อผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 70 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 30 เมกะวัตต์ และผู้มีสิทธิ์ยื่นคือต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1บ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น ความน่าสนใจของโครงการดังกล่าวอยู่ที่เป็นครั้งแรกที่รัฐรับซื้อไฟที่เหลือจากการใช้เข้าระบบ ด้วยราคา1.68 บาทต่อหน่วย กำหนดเวลารับซื้อ10ปีซึ่งทำให้การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) เกิดความคุ้มทุนได้เร็วขึ้น และผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์รูฟ ท็อปเริ่มเป็นกระแสที่มาแรง โดยล่าสุดมีการทยอยการเข้ามายื่นลงทะเบียนขอสิทธิ์ขายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผู้ที่ยื่นเสนอขายไฟที่มีความโดดเด่นคงจะหนีไม่พ้นบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ที่ระดับรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์" ได้ย้ำผ่านสื่ออย่างมั่นใจว่า เสนาจะเป็นผู้ยื่นสิทธิ์ให้กับลูกบ้าน 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเสนา พาร์ค แกรนด์ รามอินทรา,โครงการเสนา พาร์ค วิลล์ รามอินทรา-วงแหวน ,โครงการเสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5 ,โครงการเสนาแกรนด์ โฮม รังสิต ติวานนท์,โครงการเสนาช้อปเฮ้าส์ พหลโยธิน คูคต และโครงการเสนาช้อปเฮ้าส์บางแคเฟส 1 และเฟส 2 โดยจะยื่นเข้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปีนี้ด้วยจำนวนรายสูงสุด 164 ราย คิดเป็นจำนวน 394.40 กิโลวัตต์ สำหรับ "เสนา (SENA)" นับเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรกที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ทุกหลังทุกโครงการยกเว้นบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2559 และยังเป็นการบริการแบบครบวงจรผ่านการดำเนินงานติดตั้งโดยบริษัท เสนา โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่เสนาถือหุ้น 100% ซึ่งหากมองกระแสของคนที่รักสิ่งแวดล้อมแล้วนับว่าตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว "ตอนนี้เราก้าวข้ามคำถามที่ว่า โซลาร์รูฟท็อปมันดีหรือไม่ดีแน่ เพราะดีอยู่แล้วและกำลังเป็นเรื่องปกติของทุกบ้านใหม่ต้องมีเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่จำเป็น ไม่ต่างจากเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ซึ่งปัจจุบันเสนาติดตั้งให้กับบ้านในโครงการรวม 400 หลังคิดเป็นปริมาณ 1,000 กิโลวัตต์" ผศ.ดร.เกษรากล่าวย้ำ ทั้งนี้เสนายังชี้ให้เห็นว่า จากการเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมี 3 กลุ่มได้แก่ 1. ครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งคนทำงานนอกบ้าน คนสูงวัย เด็ก ซึ่งกลุ่มนี้จะมีผู้ที่อาศัยอยู่บ้านในช่วงกลางวันซึ่งสอดรับกับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่จะผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางวัน 2.กลุ่มคนทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ที่ทำงานในบ้านซึ่งก็จะอยู่บ้านในช่วงกลางวันและ 3.บ้านที่มีคนทำงานประจำ ช่วงกลางวันจะไม่อยู่บ้านและจะอยู่เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้น กลุ่มที่มีความคุ้มค่าในการใช้โซลาร์จะเป็นกลุ่มที่ 1 และ 2 ทำให้ตอบโจทย์ของการติดตั้งแผงโซลาร์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้แล้วคุ้มค่าเพราะแสงอาทิตย์มีช่วงกลางวันทำให้เกิดการประหยัดค่าไฟ ส่วนกลุ่มที่ 3 จะเป็นกลุ่มที่คุ้มค่าในการขายไฟฟ้าให้กับรัฐเนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้ไฟช่วงกลางวัน (วันธรรมดา) แต่เมื่อมีโซลาร์ภาคประชาชนที่รับซื้อไฟส่วนเกินเข้าระบบกลุ่มนี้จะได้รับผลประโยชน์ มากที่สุด อย่างไรก็ตามหากผู้สนใจจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้วเน้นเพื่อขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐเพื่อรับเงินค่าไฟ 1.68 บาทต่อหน่วยก็บอกเลยว่าไม่คุ้มทุนกับการติดตั้งเนื่องจากราคาค่าไฟดังกล่าวไม่ได้สูง ซึ่งปกติเฉลี่ยแต่ละครัวเรือนจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 2-3 กิโลวัตต์ ค่าติดตั้งประมาณกิโลวัตต์ละ 5 หมื่นบาทโดยทางเสนาได้ชี้ให้เห็นว่าหากครัวเรือนที่ติดตั้งใช้เองและไม่ขายไฟเข้าระบบจะประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้ 1-3 แสนบาท ตลอดอายุแผงโซลาร์(25 ปี) แต่กรณีติดตั้งเพื่อใช้เองและขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบซึ่งรัฐซื้อในระยะ 10 ปีนั้นจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 1-3 หมื่นบาท ดังนั้นการติดตั้งเพื่อใช้เองจึงมีความคุ้มค่าสูงกว่า ซึ่งกรณีดังกล่าว ดูเหมือนว่าหน่วยงานรัฐ ทั้ง กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ได้ตอกย้ำถึงประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังภาคประชาชนว่าควรจะคิดให้รอบคอบก่อนที่จะติดตั้งเพราะหากติดตั้งการผลิตไว้จำนวนมากๆ แล้วไม่ได้ใช้ไฟกลางวัน การลงทุนแบบนี้เสี่ยงแน่นอน อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเองยังคงคาดหวังว่าในอนาคตรัฐจะปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจหรือไม่ก็เพิ่มระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากที่กำหนดไว้ 10 ปีเป็น 25 ปีตามอายุของแผงโซลาร์ฯ โครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีแรกของการนำร่องที่หลายคนมองว่าคงจะไม่ถึงเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ด้วยเหตุผลที่ชาวบ้านยังไม่รู้ถึงผลประโยชน์และความคุ้มค่าและบ้านแต่ละหลังก็ติดตั้งขนาดเล็กๆ แต่ด้วยโครงการนี้มีระยะยาว 10 ปีที่จะทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ไปเรื่อยๆก็น่าจะทำให้ตลาดโซลาร์ฯเกิดความคึกคักมากขึ้นเพราะในต่างประเทศโซลาร์เขามาแรงจริงๆ เพราะเห็นชัดแล้วว่าคุ้มค่าทั้งค่าใช้จ่ายแถมลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ