คนไทยมองการเกษียณอายุในเชิงบวกแต่เตรียมความพร้อมช้า

ข่าวทั่วไป Monday February 11, 2008 11:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต
คนไทยมองการเกษียณอายุในเชิงบวก แต่มีการเตรียมความพร้อมช้าที่สุด โดยเริ่มเตรียมความพร้อมเมื่ออายุ 43 ปี และมองว่ารายได้หลังเกษียณอายุจะลดลงกว่าเงินเดือนสุดท้าย
นางสายฝน สัจจศิลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท กรุงไทย - แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มแอกซ่าได้ทำการสำรวจการเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณอายุประจำปี 2551 โดยในปีนี้ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนไทยเป็นครั้งแรก พร้อมกับประชากรอีก 26 ประเทศทั่วโลก โดยในการทำวิจัยครั้งนี้ได้ทำกับกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มผู้เกษียณอายุ จำนวน กลุ่มละ 300 คนทั่วประเทศ พบว่า คนไทยทั้ง 2 กลุ่มมีความเห็นในเรื่องการเกษียณอายุเป็นเชิงบวก ซึ่งคล้ายกับประชาชนในภูมิภาคเอเชีย โดยแยกเป็น 4 หัวข้อ
มุมมองจากคนทั่วไปและการใช้ชีวิตเกษียณอายุ
- คนไทยอยากจะเกษียณอายุ 58 ปี แต่ความเป็นจริงเกษียณอายุที่ 60 ปี
- คนไทยปรารถนาจะมีงานที่สร้างรายได้ระหว่างเกษียณอายุ ซึ่งคล้ายกับประชาชนในประเทศแถบเอเชีย อยู่ในสัดส่วน 31 % ของกลุ่มตัวอย่างผู้เกษียณอายุ โดยประเทศไทยติดอันดับ 3 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลยเซีย ซึ่งสามในสี่ของกลุ่มคนทำงานมีแผนที่จะมีงานสร้างรายได้ในช่วงเกษียณอายุ แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะทำได้ โดยเป็นประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง 44 %
- 62 % ของกลุ่มคนทำงาน เห็นด้วยกับการเพิ่มอายุเกษียณอายุขั้นต่ำ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย โดยผู้เกษียณอายุเพศหญิงต้องการที่จะเกษียณอายุขั้นต่ำเฉลี่ยที่อายุ 62 ปี
- กิจกรรมที่จะทำเมื่อเกษียณอายุ โดยวัฒนธรรมจะมีบทบาทสำคัญ คือ ประชาชนในต่างจังหวัด ที่อยู่ในครอบครัวขนาดใหญ่จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และอยากจะดูแลครอบครัว ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพฯซึ่งมีรายได้สูงกว่าและไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นจะมีทางเลือกมาก ทั้งนี้ 3 กิจกรรมแรกที่ได้จากผลสำรวจ คือ
กลุ่มคนทำงาน กลุ่มเกษียณอายุ
ดูแลครอบครัว 37 % ดูแลครอบครัว 51 %
จัดสวน 33 % จัดสวน 28 %
ท่องเที่ยว 17 % ท่องเที่ยว 25 %
- 70 % ของคนทำงานในไทย มีความเชื่อมั่นในอนาคต ว่าชีวิตในวัยเกษียณของเขาจะดีกว่ารุ่นพ่อแม่ของเขา และในรุ่นต่อไปจะดีกว่ารุ่นของพวกเขา โดยประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทัศนคติที่เป็นบวก ขณะที่คนเกษียณอายุที่อยู่ในกรุงเทพฯมีความกังวลมากเกี่ยวกับลูก
มุมมองในด้านการเงิน
- กลุ่มผู้เกษียณอายุรายได้น้อย จะมีคุณภาพชีวิตลดลง 40 %
- ทั้งนี้คนไทยมองโลกในแง่บวก ซึ่งเป็นอันดับ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับนานาชาติ และยังติดอันดับ 1 ของการมองมาตรฐานชีวิตดีขึ้นหลังเกษียณอายุ
- กลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 25 — 34 ปี มีมุมมองต่อเรื่องนี้ในเชิงบวกมากกว่าคนอายุ 45 — 54 ปี ส่วนกลุ่มที่ไม่มีลูกเห็นว่ารายได้เกษียณจะเพียงพอมากกว่ากลุ่มคนที่มีลูก และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 จาก 26 ประเทศ ที่คิดว่ารายได้เกษียณอายุจะเพียงพอ
- ทั้งนี้กลุ่มคนทำงานของไทยตระหนักในเรื่องรายได้เกษียณอายุในอนาคตค่อนข้างน้อยเพียง 41 % โดยคน
กรุงเทพฯมีการตระหนักในเรื่องนี้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลางและภาคเหนือต่ำ
โดยสรุป คนไทยคาดหวังว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหรืออย่างน้อยควรจะมีเสถียรภาพเท่าเดิม
เตรียมการวางแผนเรื่องเกษียณอายุ
- คนไทยมีการเตรียมตัวช้าที่สุด เป็นอันดับสุดท้ายจาก 18 ประเทศ โดยคนไทย 4 ใน 10 เริ่มเตรียมตัวเพื่อเกษียณอายุที่เฉลี่ย 43 ปี ขณะที่คนไม่ได้คิดวางแผน จะเริ่มเตรียมตัวเมื่ออายุ 50 ปี
- สิ่งที่ทำให้คนไทยเริ่มเก็บออม ได้แก่ การแต่งงาน การมีลูก และอุปสรรคทางการเงิน โดยรวมแล้วคนทำงานมีแนวโน้มถูกกระตุ้นให้เริ่มการออมมากกว่ารุ่นพ่อแม่
- คนไทยส่วนใหญ่สร้างความมั่นคงของรายได้เกษียณอายุด้วยการมีเงินทุนสะสมส่วนบุคคล และมีแผนประกันชีวิต (ทั้งนี้โดยภาพรวมกลุ่มคนทำงานมีการวางแผนมากกว่ากลุ่มเกษียณอายุ โดยเฉลี่ยคนไทยที่เกษียณอายุจะเก็บออม 3,957 บาท ต่อเดือน ยิ่งเงินเดือนสูงจะออมมากขึ้น)
ปัจจัยที่มีอิทธิพลของคนทำงานกับผู้เกษียณอายุ
- สิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขมาก คือ การมีสุขภาพดี และมีการเตรียมตัวเพื่อการเกษียณเร็วกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงมีรายได้หลังเกษียณอายุเพียงพอ ซึ่งกลุ่มคนทำงานคนไทยติดอันดับ 2 ของกลุ่มที่รู้สึกว่าสุขภาพแข็งแรงมาก รองจากประเทศอินโดนีเซีย และอยู่ในระดับเดียวกับประเทศอินเดีย และคนไทยมีความเห็นต่างกันในเรื่องการใช้เงินออมหรือมอบเป็นมรดกเพื่อคนอื่น โดยคนไทยคิดว่าควรใช้เงินออมเพื่อตัวเอง มากกว่ามอบให้กับทายาท ในขณะที่ประเทศจีนและอินโดนีเซีย เห็นว่า ไม่ต้องการใช้เงินออมของตนเพื่อตนเอง แต่จะมอบให้แก่ทายาทมากกว่า
- กลุ่มผู้เกษียณอายุที่มีความสุขมากที่สุด คือ คนที่มีสุขภาพแข็งแรง เตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อการ
เกษียณ และมีรายได้เกษียณที่เพียงพอสำหรับช่วงเกษียณอายุ เช่นเดียวกัน คนทำงานที่มีความสุขมาก มีแนวโน้มว่าจะเตรียมตัวเพื่อเกษียณอายุก่อนคนอื่น และคาดหวังว่าจะมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ
นางสายฝน กล่าวในตอนท้ายว่า กลุ่มแอกซ่าได้สำรวจการเตรียมความพร้อมด้านการเกษียณอายุ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักในเรื่องการวางแผนสำหรับอนาคต ซึ่งประชากรในแต่ละประเทศมีการเตรียมความพร้อมที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยแม้ประชาชนจะมีการเตรียมความพร้อมช้า แต่ก็เห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมนั้น และบริษัทฯได้ผลการสำรวจนี้มาใช้ในการพัฒนาแบบประกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าคนไทยมากที่สุด โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ล่าสุด คือ อีซี่ รีไทร์ (Easy retire) ที่สามารถช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายในการออมเพื่อการเกษียณอายุ สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้จากตัวแทนของบริษัทฯ และที่ปรึกษาทางการเงินที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ หรือโทรสอบถามได้ที่ศูนย์บริการลูกค้า (Call center) 0-2689-4800
ข้อมูลบริษัท: บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด เป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำของไทย ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่มีรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ กลุ่มแอกซ่า กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และบริหารสินทรัพย์ ที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ในด้านรายได้* จึงส่งผลให้ กรุงไทย - แอกซ่า ประกันชีวิต เป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีความเชี่ยวชาญในด้านการรับประกันชีวิต
** การจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์จูน โกลบอล 500 (ฉบับปี 2004 และปี 2005) ในกลุ่มธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด
นัทธ์หทัย นาวานุเคราะห์
ผู้จัดการแผนกสื่อสารการตลาดและภาพลักษณ์องค์กร
Tel: 0-2723-4000 Ext. 3520
Fax: 0-2723-4033
Email: nathathai.nav@krungthai-axa.co.th
บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด
ศุลีพร ยงวิทิตสถิต
ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กร
Tel: 0-2723-4000 Ext. 3521
Fax: 0-2723-4033
Email: suleeporn.yon@krungthai-axa.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ