แนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้

ข่าวทั่วไป Monday June 6, 2005 09:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ไทยธนาคาร
สำนักวิจัยมองว่าดัชนีหุ้นไทยทรงตัวถึงปรับตัวขึ้นเล็กน้อยโดยมีแนวต้านอยู่ที่ 685 จุด ส่วนเงินบาทคาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 40.50 — 40.80 บาท/ดอลลาร์
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้ ( 6 — 10 มิ.ย. 48 ) โดยสำนักวิจัยมองว่าในสัปดาห์นี้ดัชนีหุ้นไทยทรงตัวถึงปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามระดับราคาน้ำมันและทิศทางค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยที่กดดันตลาด ส่วนมูลค่าการซื้อขายคาดว่าจะปานกลาง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนยังรอดูความชัดเจนของทิศทางตลาดหุ้นไทย โดยดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้จะมีแนวรับอยู่ที่ 670 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 685 จุด กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้คือหุ้นกลุ่มบลูชิพ เนื่องจากเป็นกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ เพราะมองว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่มีสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน เช่น BANPU , PTT , PTTEP , กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น BBL , KBANK รวมทั้งกลุ่มเดินเรือ เช่น TTA , PSL
สำหรับทางด้านค่าเงินบาท สำนักวิจัยมองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 40.50 — 40.80 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสี่เดือนแรกปีนี้มีการขยายตัวที่ดี และสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนมองว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือน พ.ค. จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การที่ FED อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในทางตรงข้ามเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง เกิดการขาดดุลการค้าติดต่อกัน 4 เดือนเนื่องจากการนำเข้าน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น จนส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล อย่างไรก็ตามตลาดคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ธปท. มีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วันเป็น 2.50% เพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและจะเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาท
รัฐบาลได้ตัดสินใจลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลแบบมีการจัดการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำมันขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้น จนส่งผลให้ขาดดุลการค้า สำนักวิจัย มองว่า การลอยตัวราคาน้ำมันเป็นการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีความผันผวนค่อนข้างมากและยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะยาวหรือตั้งแต่ประมาณต้นปี 2549 อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น เพราะผู้บริโภคจะรับภาระจากการทยอยยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและภาษีสรรพสามิต ขณะที่ต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลจะทำให้การใช้น้ำมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาขาดดุลการค้า
สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ (6-10 มิ.ย. 48) คาดว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่ได้ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มิ.ย. จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ทั้งของสหรัฐฯและไทยในสัปดาห์นี้ และมีผลต่อการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในวันที่ 29-30 มิ.ย. ทั้งนี้ หากตัวเลขการจ้างงานแสดงถึงการขยายตัวของการจ้างงานที่แข็งแกร่งแล้ว จะเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งของสหรัฐฯและไทยเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ