กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
- ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ และยอดใช้จ่ายโดยรวมเติบโตขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561
วีซ่า ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลชั้นนำระดับโลก เผยให้เห็นว่าการชำระเงินแบบดิจิตอลรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัย สะดวกและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยเปลี่ยนพฤติกรรมมาเลือกชำระเงินแบบดิจิตอลมากขึ้นยกตัวอย่างจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยยอดใช้จ่ายของผู้ถือบัตรวีซ่าเพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ และยอดใช้จ่ายโดยรวมเติบโตขึ้นถึง 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน
ข้อมูลนี้ยังชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยเลือกใช้วิธีชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลสำหรับการซื้อสินค้าในร้านค้า และออนไลน์มากยิ่งขึ้น ตอบสนองนโยบายของประเทศในการผลักดันประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ข้อมูลการใช้จ่ายนี้แสดงให้เห็นถึง ความคืบหน้าของประเทศในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างมั่นคง ผู้บริโภคชาวไทยมีความมั่นใจที่จะชำระเงิน ผ่านระบบดิจิตอลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสอดรับกับความต้องการของภาครัฐในการรับจ่ายเงินผ่านระบบ การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์"
โดยเทรนด์การท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีทั้งนักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางในประเทศและเดินทางไปต่างประเทศ โดยข้อมูลของ วีซ่า แสดงให้เห็นว่าในช่วงเทศกาลฉลองนี้ 39 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถือบัตรวีซ่าชาวไทยใช้จ่ายในประเทศไทย 57 เปอร์เซ็นต์ใช้บัตรวีซ่าในจังหวัดที่ตนอยู่อาศัย และ 4 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าในต่างประเทศ
ด้านการท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า บัตรวีซ่าที่ออกโดยธนาคารในประเทศไทยถูกนำไปใช้มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วย เกาหลีใต้ อเมริกา อังกฤษ และฮ่องกง ในขณะที่ไต้หวันและออสเตรเลียเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นสำหรับผู้ถือบัตรวีซ่าชาวไทยโดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้สิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเลือกช้อปผ่านบัตรมากที่สุดคือ ของใช้ทั่วไป เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ที่พัก และค่าใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพราะมียอดใช่จ่ายสูงขึ้นถึง 4 เปอร์เซ็นต์เทียบจากปีก่อนหน้า โดยยอดใช้จ่ายนี้เกิดจากนักท่องเที่ยวชาวอเมริกา อังกฤษ จีน เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และอินเดีย และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือปีนี้นับเป็นปีแรกที่ชาวอินเดียติดหนึ่งในสิบอันดับประเทศที่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าสูงสุดในประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยส่วนใหญ่เลือกใช้บัตรวีซ่าชำระเงินตามจุดท่องเที่ยวสำคัญๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี
ผู้ถือบัตรวีซ่าที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ มีการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงเทศกาลที่เป็นจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ชลบุรี นครศรีธรรมราช อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ และนครราชสีมา โดยผู้ถือบัตรวีซ่าที่อยู่ในเมืองอื่น ๆ ก็มีพฤติกรรมการใช้จ่ายคล้าย ๆ กัน โดยสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของบัตรวีซ่า คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และระยอง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามองคือจำนวนยอดทำธุรกรรมผ่านบัตรวีซ่าในจังหวัดชลบุรี อยุธยา นครราชสีมา และระยองมีอัตราเพิ่มขึ้นเกิน 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2561 โดยค่าน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค ค่าอาหาร และสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน ถือเป็นกลุ่มประเภทค่าใช้จ่ายที่ผู้ถือบัตรวีซ่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลนี้เป็นลำดับต้น ๆ
"เราดีใจที่ได้เห็นผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้จ่ายผ่านระบบดิจิตอลมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าการแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจในครั้งนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลงได้อย่างรวดเร็ว" สุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย
เกี่ยวกับวีซ่า
Visa Inc. (NYSE:V) เป็นผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ภารกิจของเราคือการเชื่อมโยงโลกผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการชำระเงินที่เชื่อถือได้และมีความปลอดภัยมากที่สุด ช่วยให้ผู้บริโภค ธุรกิจต่างๆ และเศรษฐกิจสามารถเจริญเติบโตได้ VisaNet (วีซ่าเน็ต) ซึ่งเป็นเครือข่ายประมวลผลระดับโลกที่ทันสมัยของเราให้บริการชำระเงินที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ทั่วโลก และมีความสามารถในการจัดการธุรกรรมมากกว่า 65,000 รายการต่อวินาที บริษัทมีความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการสร้างนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของการค้าที่เชื่อมโยงโดยอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ และเป็นแรงผลักดันความฝันในการสร้างสังคมไร้เงินสดในอนาคตสำหรับทุกคนและทุกสถานที่ ในขณะที่โลกเปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล วีซ่าจะใช้แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ พนักงาน เครือข่ายและขอบเขตธุรกิจของเรา ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพาณิชย์ในอนาคต ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาได้จาก About Visa และ visacorporate.tumblr.com และ @VisaNews