กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--เวิร์คลิ้งค์ ดาเอเจนซี่
คณะผู้บริหารและทีมงาน บริษัท จีอีพี (เมียนมาร์) จำกัด โดยความร่วมมือของ 3 บริษัท และกลุ่มผู้ก่อตั้งโครงการ ผู้ลงทุนหลักคือ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) และ บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) ") เข้าร่วมพิธีเปิดโรงไฟฟ้ามินบู เฟส 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกกะวัตต์ ณ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ได้รับเกียรติจาก นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา พร้อมด้วย รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไฟฟ้าและพลังงาน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐมาเกวย เป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกกะวัตต์ ในประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา (พม่า)
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยมี นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา H.E. Dr. Tun Naing รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน และ H.E. Aung Moe Nyo หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐมาเกวย ของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมกับ GEP (Myanmar) Co.,Ltd. เป็นประธานเปิดงาน เผยว่า โครงการโรงไฟฟ้ามินบูเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าโซล่าร์แห่งแรก และเป็นความภาคภูมิใจของประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ตัวแทนสถาบันทางการเงิน นักลงทุน และแขกผู้มีเกียรติจากประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เมียนมา และสื่อมวลชนไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี
ทั้งนี้ การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู โดยโครงการได้รับการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานระดับสากล โดยเฟส1 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกกะวัตต์ จากทั้งหมด 220 เมกกะวัตต์ พื้นที่รวมของโครงการมีขนาด 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ซึ่งได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาล และบริษัทในประเทศเมียนมา และเมื่อมีการดำเนินการจ่ายไฟแล้ว จะขายให้กับหน่วยงานจัดหาพลังงานภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน (Electric Power Generation Enterprise (EPGE)) ของรัฐบาลพม่ามีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh ต่อปี เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้า 2 แสนครัวเรือน ความสำเร็จของโครงการจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ซึ่งโครงการจะกลายเป็นแบบอย่างและความภาคภูมิใจของประเทศพม่าอีกด้วย
โรงไฟฟ้ามินบูถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจของทั้งชาวเมียนมาและทีมผู้ลงทุนไทย ที่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้เสร็จ 1 เฟสแล้วบนพื้นที่ที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าซึ่งโรงไฟฟ้ามินบูถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาด้านความเป็นอยู่ การศึกษา สร้างอาชีพ สุขอนามัยที่ดี และอื่นๆ ของชาวเมียนมา
นายออง ทีฮา ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP กล่าวว่า "เรามีความภูมิใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้สร้างความสำเร็จและได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเมียนมาให้ก้าวหน้าไปทันประเทศอื่นๆ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลอย่างเต็มที่ ต้องยอมรับว่าประชาชนชาวเมียนมาส่วนมากยังใช้ชีวิตอยู่โดยขาดแคลนไฟฟ้าใช้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้จะทำให้ชาวเมียนมามีชีวิตที่ดีขึ้น โดยความสำเร็จนี้การันตีความสำเร็จของ GEP ในอนาคตเพื่อก้าวต่อไปในการพัฒนาโครงการอื่นๆในอนาคต ในฐานะคนเมียนมาและหนึ่งในผู้บุกเบิกพลังงานสะอาดในเมียนมา ผมรู้สึกทราบซึ้งในการสนับสนุนการพัฒนาโครงการจากนักลงทุน สถาบันการเงิน และพันธมิตรทั้งจากไทยและประเทศอื่นๆ ที่ได้มีส่วนช่วยให้คนเมียนมามีไฟฟ้าใช้เพิ่มมากขึ้น และแสดงให้เห็นว่าประเทศเมียนมามีวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยผ่านความสำเร็จของโครงการของเรา"
ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้นำด้านธุรกิจพลังงาน พลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก กล่าวว่า "เรามีความปิติยินดีเป็น อย่างยิ่งกับความสำเร็จของโครงการโรงไฟฟ้ามินบู โดยก่อนที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้เราตั้งทีมศึกษาดูรายละเอียดของโครงการอย่างถี่ถ้วนและมั่นใจว่าโครงการนี้มีศักยภาพที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างแน่นอน จากความสำเร็จในเฟสแรกนี้แม้เป็นเพียงก้าวแรกของโครงการ แต่เราเชื่อมั่นว่าการก่อสร้างเฟสต่อๆ ไปจะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีเพราะมีทีมงานที่มีประสบการณ์และคุ้นเคยการทำงานร่วมกันหมดแล้วหลังจากโครงการ COD แล้ว SCN จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน GEPT เป็น ร้อยละ 40 ซึ่งจะส่งผลให้การรับรู้กำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเราจะกลายเป็นผู้ลงทุนและถือหุ้นใหญ่ใน GEPT ซึ่งประเมินแล้วว่าผลตอบแทนที่จะได้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างแน่นอน เราไม่ได้มองแค่ที่เมียนมาแต่ยังมีประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ที่เป็นเป้าหมายในการขยายการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างพิจารณาศึกษาการลงทุนในประเทศเวียดนามและใกล้เคียง"
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ(ECF) เปิดเผยถึง การเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 220 เมกะวัตต์ มินบู ประเทศเมียนมา ในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยลงทุนผ่าน บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัท คาดว่าจะเริ่ม COD เฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ภายในไม่เกินไตรมาส 2-3 นี้ ส่งผลให้บริษัทจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันทีในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการเริ่ม COD ของเฟสที่ 2 3 และ 4 จะทยอยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการหลัง COD 360 วันของแต่ละเฟสเป็นลำดับต่อไป ซึ่งในปีนี้ ธุรกิจพลังงานทดแทนที่ ECF ได้เข้าลงทุน จะเห็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรอย่างชัดเจน โดยที่ผ่านมาได้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลภาคใต้ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ อีกทั้งบริษัทมีแผนขยายธุรกิจด้านพลังงานอย่างจริงจัง โดยยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายโครงการในต่างประเทศ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะช่วยสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นหากมีโครงการพลังงานทดแทนที่มีความน่าสนใจ บริษัทพร้อมที่จะเข้าไปศึกษาโครงการนั้นๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนกิจการ"นายอารักษ์ กล่าว
นายศุภศิษฎ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ META ผู้นำทางด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า "วันนี้ เราในฐานะผู้พัฒนาและรับเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ามินบู มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำโครงการโซล่าหรือโครงการพลังงานทางเลือกในเมียนมาได้สำเร็จเป็นคนแรก โรงไฟฟ้ามินบูเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทฯ มีศักยภาพมากพอในด้านการปฏิบัติการและในการรับเหมาก่อสร้างโครงการใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ หลังจากที่ได้เข้ามาบริหารงานตั้งแต่ปี 2016 ได้ศึกษาและทำความเข้าใจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเสี่ยง วิธีการทำงานในเมียนมา การให้ความรู้และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องอาศัยการบริหารความสัมพันธ์อันดี ทำให้เรามีความแน่นแฟ้นกับชาวเมียนมามากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ในการขยายธุรกิจรับเหมาของบริษัทฯ ด้วยความเชียวชาญนี้จะทำให้บริษัทฯ มีช่องทางในการรับงานรับเหมากับโครงการอื่นๆ ในเมียนมา และทำให้เรามีโอกาสขยายตัวสูงขึ้น มุ่งเข้าพัฒนาธุรกิจในโครงข่ายพลังงานและด้านอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันชาวเมียนมามีไฟฟ้าใช้เพียงแค่ 1 ใน 3 ของประเทศ การเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้า ในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการช่วยให้ชาวบ้านและเมืองมินบูมีการพัฒนามากขึ้น ดึงความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ช่วยพัฒนาชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส ทั้งนี้จากความสำเร็จของโครงการดังกล่าว จะทำให้ META รับรู้รายได้จากสองทางคือรายได้จากการจำหน่ายไฟและรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 2562 นี้ และจะดำเนินการก่อสร้างโครงโรงไฟฟ้ามินบูเฟส 2,3,และ 4 ทันที ตามลำดับ