กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรมวิชาการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร เผยผลตรวจตัวอย่างมันสำปะหลังต้องสงสัยจังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรเฮผลแลปชี้ชัดไม่พบเชื้อสาเหตุโรคใบด่าง แต่ยังย้ำเตือนเกษตรกรหันหลังให้มันสำปะหลังพันธุ์ 89 พร้อมหมั่นสำรวจแปลง หากพบอาการต้องสงสัยให้ถอนทำลายทันที
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์กล่าวถึงการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังในแปลงของเกษตรกร ต.ลิ่นถิ่น อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้ง อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ได้ร่วมกันเข้าไปสำรวจพื้นที่การระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังดังกล่าว ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรเจ้าของแปลงทราบว่าได้ซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ 89 มาจากเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาจำนวน 20 ต้น โดยท่อนพันธุ์ที่ซื้อมาได้ขยายพันธุ์ไว้ในแปลงในพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อใช้ปลูกในรุ่นถัดไป ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่เพิ่งพบอาการผิดปกติเมื่อเร็วๆ นี้ โดยลักษณะอาการที่พบ คือ ใบยอดด่างและหงิกเสียรูปทรง ส่วนใบล่างถัดลงมาแสดงอาการด่าง เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างมันสำปะหลังเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ที่คลินิกพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ทันที
จากผลการตรวจตัวอย่างในระยะเวลาที่รวดเร็วภายในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร โดยใช้เทคนิคการตรวจสอบในระดับชีวโมเลกุลแล้ว ผลปรากฏว่าไม่พบแถบดีเอ็นเอของเชื้อ SLCMV ซึ่งหมายถึงว่ามันสำปะหลังในแปลงที่เก็บตัวอย่างมาไม่ได้เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อ SLCMV ตามที่มีข่าวว่าพบการระบาดของโรคใบด่างในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ย้ำเตือนถึงความรุนแรงของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV พร้อมกับหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ 89 ซึ่งแม้จะโตได้ดีและให้น้ำหนักดี แต่เป็นพันธุ์มันสำปะหลังที่อ่อนแอต่อทุกโรคของมันสำปะหลัง รวมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV โดยขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังทุก 2 สัปดาห์ หากพบต้นที่แสดงอาการต้องสงสัยให้ดำเนินการถอนทำลายต้นที่ต้องสงสัยและต้นข้างเคียงในพื้นที่ 4x4 เมตร (ไม่เกินจำนวน 16 ต้น) โดยวิธีฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตรทำการกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ด้วยสารเคมีอิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงที่พบอาการต้องสงสัยและแปลงใกล้เคียง