กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กล่าวว่า ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชมีค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตที่เป็นน้ำยางส่งออกขายหรือแปรรูปได้แล้ว ไม้ยางพาราก็เป็นที่ต้องการในแวดวงอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมพลังงาน โดยที่ผ่านมา กยท. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางของ กยท. ดำเนินการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน ยกระดับสู่มาตรฐานสากลมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดตัวระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย (TFCS) อย่างเป็นทางการ ให้บริการด้านการออกใบรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานสากล (The Programme for the Endorsement of Forest Certification: PEFC) กยท. จึงได้ร่วมมือกับ ส.อ.ท. ขับเคลื่อนสวนยางพาราให้เข้าสู่มาตรฐานดังกล่าว เพื่อเป็นการยกระดับสวนยางพาราไทยสู่มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตยางพาราและไม้ยางพารา
"ทาง กยท. มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสากล(PEFC) โดยมีงบประมาณสนับสนุนตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 49 (3) เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง กำหนดเป้าหมายนำร่องพื้นที่สวนยาง จำนวน 200,000 ไร่ ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา จ.กระบี่ จ.ตรัง จ.พัทลุง และ จ.สตูล เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีสวนยางหนาแน่น รวมถึงมีบริษัทรับซื้อน้ำยางและไม้ยางพาราในพื้นที่จำนวนมาก โดยหลังจากนี้จะมีการขยายพื้นที่สวนยางเป้าหมายให้ได้รับมาตรฐานสากล ทั่วประเทศ" นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย