กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2562 จะบวกขึ้นเล็กน้อยจากช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยด้านฤดูกาลเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านเศรษฐกิจและค่าเงิน เทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป การแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติของแต่ละประเทศ รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน อาจสร้างความท้าทายต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย อาจมีจำนวน 20.1 ล้านคน หรือขยายตัว 7.0% (YoY) เทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะมีจำนวน 19.7 ล้านคน หรือขยายตัว 1.6% ส่งผลให้ทั้งปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยไว้ที่ประมาณ 39.0-39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 2.0-4.0% จากปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.94-1.97 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขคาดการณ์รายได้นักท่องเที่ยวดังกล่าว ได้คำนึงถึงการปรับฐานตัวเลขทบทวนใหม่ในปี 2561 ของทางการ (ปรับลดลงจากเดิม) รวมทั้งในปี 2562 ความท้าทายจากเทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่อาจลดจำนวนวันพักและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวบางรายการลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 ที่ 39.0-39.8 ล้านคน
- ครึ่งแรกปี 2562 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยอ่อนแรงลงจากหลายปัจจัย ซึ่งภาพรวมตัวเลขและอัตราการเติบโตที่ชะลอลง เป็นไปตามที่เคยคาด (ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานตัวเลขครึ่งแรกปี 2561 ทำไว้สูง) แม้อาจมีความแตกต่างบ้างในรายตลาดนักท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวจีน มีจำนวนต่ำกว่าที่ประเมิน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวชะลอลงจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีทางเลือกของจุดหมายปลายทางที่หลากหลายมากขึ้น และทางการของแต่ละประเทศต่างก็ชูภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้การแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอีกด้านหนึ่ง การต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrivals เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวบางประเทศออกมาดีกว่าที่เคยประเมิน อาทิ ตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย
- ครึ่งหลังปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย น่าจะบวกเล็กน้อยเมื่อเที่ยบกับครึ่งปีแรก โดยประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2562 อาจจะอยู่ที่ราว 20.1 ล้านคน เทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะมีจำนวน 19.7 ล้านคน อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับฐานที่ค่อนข้างต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2562 มาที่ประมาณ 7.0% (YoY) จากคาดการณ์อัตราการเติบโตช่วงครึ่งปีแรกที่ 1.1% (YoY) (5 เดือนแรกปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยอยู่ที่ 16.7 ล้านคน เติบโต 1.6% (YoY))
- ปัจจัยด้านฤดูกาล และการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก รวมทั้งการเป็นประธานอาเซียน เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2562 โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี จะเป็นช่วงปิดภาคการศึกษาของหลายๆ ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป เป็นต้น ตามมาด้วยวันหยุดยาวเนื่องจากวันชาติของจีนในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงท้ายปี รวมถึงการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก และการเป็นประธานอาเซียน น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศภาพรวมตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก
- อย่างไรก็ดี ความท้าทายทั้งประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจ ประเด็นเทรนด์นักท่องเที่ยวและการแข่งขัน ตลอดจนสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง
o ประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของตลาดนักท่องเที่ยวในหลายภูมิภาค และทิศทางค่าเงิน หลังจากที่เงินบาทได้หลุดระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรือปรับแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และอาจยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจหลักในหลายประเทศของโลกที่อ่อนแรงลงตามความซบเซาของการค้าโลก อาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวหรือปรับแผนการเดินทางให้สอดคล้องกับงบประมาณมากขึ้นของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความอ่อนไหวด้านรายได้และราคา เช่น กลุ่มที่เดินทางเป็นครอบครัว กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัด เป็นต้น
o เทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่สนใจไปท่องเที่ยวในจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน แทบทุกประเทศต่างก็ชูภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงมาตรการด้านการท่องเที่ยว จึงนำมาสู่การแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติของแต่ละประเทศ ภาพดังกล่าว นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า และประเด็นนี้บางส่วนก็สะท้อนให้เห็นได้จากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลายประเทศในเอเชียที่ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าไทยในระยะที่ผ่านมา
o สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยฉุดตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย เช่น สภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดจากคลื่นความร้อน (Heat Wave) ในแถบยุโรป อาจจะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง หากเกิดภัยธรรมชาติในประเทศใด ก็จะกระทบกำลังซื้อและบรรยากาศการท่องเที่ยวของผู้คนในประเทศนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ประเด็นนี้ก็ครอบคลุมถึงปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งหากทุกฝ่ายสามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยวของไทย นอกเหนือไปจากประเด็นด้านสุขภาพของผู้คนด้วย
ภายใต้มุมมองที่ระมัดระวังดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสำหรับภาพทั้งปี 2562 ที่จำนวน 39.0-39.8 ล้านคน ขยายตัว 2.0-4.0% โดยตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี จะได้แก่ ตลาดนักท่องเที่ยวเอเชีย เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ขณะที่ ตลาดนักท่องเที่ยวจีน แม้อัตราการเติบโตคงเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังมีความท้าทายด้านการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจและค่าเงิน ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปอย่างรัสเซียนั้น ยังอาจเห็นการหดตัวโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 จากความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศตุรกีและยุโรปที่เพิ่มมากขึ้นของชาวรัสเซีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า รายได้หรือการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.94-1.97 ล้านล้านบาท โดยการคาดการณ์ตัวเลขนี้ คำนึงถึงการที่ทางการกำลังอยู่ระหว่างทบทวนฐานตัวเลขใหม่ในปี 2561 (ปรับลดลงจากเดิม) ประกอบกับ ในปี 2562 เทรนด์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป จากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในบางรายการที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากผลของการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก รวมทั้งจำนวนวันพักที่อาจลดลง เพราะนักท่องเที่ยวยุคใหม่มักนิยมเดินทางท่องเที่ยวหลายทริป/หลายประเทศในแต่ละปี นอกจากนี้ ประเด็นการแข่งขันด้านราคาจากฝั่งผู้ประกอบการในประเทศ ตลอดจน การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวกับประเทศอื่นๆ ก็ยังเป็นปัจจัยท้าทายการเติบโตเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้การชูนโยบายที่ต้องการส่งเสริมการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติคุณภาพที่ใช้จ่ายต่อหัวสูงเข้ามาท่องเที่ยวในไทย อาจจะทำได้ไม่ง่ายนักท่ามกลางเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปดังกล่าว
โดยสรุป จากประเด็นการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในการดึงดูดตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงข้างหน้า ประเด็นความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทยจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ต้องเร่งวางแผนรับมือ โดยการที่จะรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน อาจจะไม่ใช่เพียงการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ หรือการหาตลาดใหม่ๆ มาทดแทนตลาดเดิมเท่านั้น แต่อาจจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว (Traveller Journey) เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาและการบริหารจัดการระบบการคมนาคมขนส่งในประเทศ การบริหารจัดการบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพ การวางแผนการตลาดด้วยการเจาะลึกตามกลุ่ม Segment ของนักท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้คงความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวที่จะช่วยเพิ่มรายได้ในการท่องเที่ยว อาทิ การจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาประเทศร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างการแข่งขันกีฬาเรือใบหรือการแข่งขันเรือยอร์ช (Yacht Racing) ที่ขยายเส้นทางการแข่งขันเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล เป็นต้น
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2562 นี้ ท่ามกลางธุรกิจที่ยังเผชิญความท้าทายหลายประการ ผู้ประกอบการคงต้องมีการปรับแผนการตลาดเชิงรุกในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง อาทิ การนำเสนอแพคเกจท่องเที่ยวที่พักและกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อและไลฟ์สไตล์ความต้องการที่ต่างกัน หรือการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่และนอกพื้นที่ในการจัดแพคเกจท่องเที่ยวที่มีความแปลกใหม่แตกต่างจากเดิม หรือให้สอดคล้องไปกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การท่องเที่ยววิถีชุมชุม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จะได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆกลับไป นอกจากนี้การใช้สื่อดิจิทัลที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศในการช่วยทำตลาดประชาสัมพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ การทำวิดีโอคลิปโปรโมทโรงแรมที่พักหรือแพคเกจสถานที่ท่องเที่ยวผ่าน Youtube หรือ Facebook เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น