กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนอาชีวะสร้างช่างฝีมือ เป็นการดำเนินงานตามแนวทางการจัดการศึกษาแบบโรงเรียนพระดาบส ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงของผู้ด้อยโอกาส ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้มีฝีมือช่าง และประกอบอาชีพได้ในระยะเวลา 1 ปี
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวต่อไป สถานศึกษานำร่องในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 12 แห่ง ได้แก่ 1. วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด 2. วิทยาลัยการอาชีพเสนา 3. วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม 4. วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา 5. วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง 6. วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี 7. วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ 8. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร 9. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว 10. วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี 11. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี และ 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ได้จัดการเรียนการสอนอาชีวะสร้างช่างฝีมือ โดยมีเป้าหมายการรับผู้เรียน 30 คน ต่อสถานศึกษา และเมื่อผู้เรียนจบการศึกษา มีงานทำ 100 เปอร์เซ็น โดยมีรูปแบบการเรียนที่ผู้เรียนจะได้รับการฝึกขั้นพื้นฐานจากสถานีฝึก 12 สถานี ดังนี้ งานไม้ งานตะไบ งานปูน งานตีเหล็ก งานเขียนแบบ งานไฟฟ้า งานยานยนต์ งานเชื่อม งานอิเล็กทรอนิกส์ นิวเมติกส์ เศรษฐกิจพอเพียง คุณธรรมจริยธรรม ประวัติศาสตร์ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จากนั้นอีก 3 เดือน ก็จะฝึกทักษะอย่างเข้มข้นให้ผู้เรียนเลือกตามความถนัด และความสนใจ และ 2 เดือนต่อมา ก็จะฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ และการสอนมาตรฐานฝีมือแรงงาน และทักษะที่จำเป็นสำหรับการออกสู่โลกอาชีพต่อไป โดยผู้เรียนจะได้รับใบสัมฤทธิบัตร เมื่อสำเร็จการศึกษาตามเวลาที่กำหนดไว้
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ (28 มิ.ย.2562 ) เป็นการแข่งขันของผู้เรียนอาชีวะสร้างช่างฝีมือ จากสถานศึกษานำร่อง 12 แห่ง ในการแข่งขันทักษะวิชาชีพ อาชีวะสร้างช่างฝีมือ ระดับชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2562 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนตามโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ได้แสดงออกถึงความสามารถด้านทักษะวิชาชีพ และยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสามารถที่เป็นเลิศทางวิชาชีพในแต่ละทักษะงาน ซึ่งอาชีวะเชื่อมั่นว่าเมื่อผู้เรียนกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับผลการแข่งขันทักษะวิชาชีพ อาชีวะสร้างช่างฝีมือ ระดับชาติ ครั้งที่ 1 มีดังนี้
ทักษะงานตะไบ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายฮาฟิช เจ๊ะเม๊าะ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายเสกสรรค์ สิงห์ใจ วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายอภิชาต คมขำ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร
ทักษะงานเชื่อม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่นายนุติ ตะก้อง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายธีระพันธ์ บุญยงค์ วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่นายกิตติวัฒน์ ศรีพรหม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร
ทักษะงานไม้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายภควัช มีศรี วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่นายคิรินทร์ วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายสุไลมาล มามะ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี
และทักษะงานไฟฟ้า รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายวสันต์ บุญศรี วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่นายสมพงษ์ มาลากรณ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายภาคภูมิ สีสว่าง วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี