กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "รัฐบาลจะออก หวย 2 ตัว 3 ตัว สู้กับหวยใต้ดิน" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับรัฐบาลจะออก หวย 2 ตัว 3 ตัว สู้กับหวยใต้ดิน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธี สุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเสี่ยงโชคของประชาชนในอดีต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.43 ระบุว่า เคยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 37.33 ระบุว่า เคยซื้อหวยใต้ดิน ร้อยละ 29.31 ระบุว่า ไม่เคยซื้อหวยทุกชนิด ร้อยละ 3.97 ระบุว่า เคยซื้อหวยหุ้น และร้อยละ 0.48 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ สลากออมสิน หวยกล่อง หวยออนไลน์ และหวยลาว
ส่วนการเสี่ยงโชคของประชาชนในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.33 ระบุว่า ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 38.76 ระบุว่า ซื้อหวยใต้ดิน ร้อยละ 6.85 ระบุว่า เลิกซื้อหวยทุกชนิดแล้ว ร้อยละ 2.81 ระบุว่า ซื้อหวยหุ้น และร้อยละ 0.22 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ สลากออมสิน และหวยลาว
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่รัฐบาลจะออก หวย 2 ตัว 3 ตัว โดยมีรางวัลแจ๊กพ็อต เพื่อสู้กับหวยใต้ดิน พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.39 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการเพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อและถูกกฎหมาย มีโอกาสถูกรางวัลค่อนข้างสูง ขณะที่บางส่วนระบุว่าจะได้นำรายได้บางส่วนไปใช้ประโยชน์เพื่อสังคมบ้าง ดีกว่าให้ไปเข้ากระเป๋าเจ้ามืออย่างเดียว และหวยใต้ดินจะได้หมดไปหรือเบาลง รองลงมา ร้อยละ 16.86 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ทำให้ประชาชนงมงายมากขึ้น กังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้ยกเลิกระบบหวยทั้งหมด ร้อยละ 0.67 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขอดูรายละเอียดในส่วนของรูปแบบการซื้อและผลตอบแทนที่ได้รับก่อน และร้อยละ 7.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่รัฐบาลจะออกหวยรูปภาพแบบน้ำเต้าปูปลา เพื่อสู้กับหวยใต้ดิน พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.17 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเสพติดการพนันมากเกินไป และอาจทำให้เกิดหนี้สินกับประชาชนโดยไม่จำเป็น ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้ยกเลิกระบบหวยทั้งหมด รองลงมา ร้อยละ 20.11 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ จะได้ซื้อขายอย่างถูกกฎหมาย และจะได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสถูกรางวัลค่อนข้างสูง ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้ไม่เสี่ยงต่อการโดนตำรวจจับ ร้อยละ 0.11 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขอดูรายละเอียดในส่วนของรูปแบบที่รัฐบาลจะทำออกมาก่อน และร้อยละ 14.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการเสี่ยงโชคของประชาชน หากในอนาคตมีตัวเลือกเสี่ยงโชคมากขึ้นทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.70 ระบุว่า ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 30.90 ระบุว่า ซื้อหวย 2 ตัว 3 ตัวของรัฐบาลที่มีแจ๊กพ็อต ร้อยละ 25.81 ระบุว่า ไม่ซื้อหวยทุกชนิด ร้อยละ 12.63 ระบุว่า ซื้อหวยใต้ดิน ร้อยละ 4.05 ระบุว่า ซื้อหวยรูปภาพแบบน้ำเต้าปูปลาของรัฐบาล ร้อยละ 1.19 ระบุว่า ซื้อหวยหุ้น ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ และร้อยละ 2.30 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.82 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.57 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.51 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.66 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.25 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.75 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 6.11 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.57 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.08 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.44 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.80 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.73 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.88 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.19 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.45 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.55 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.65 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 33.76 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.39 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.46 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.75 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.81 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.83 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 9.22 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.93 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.49 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.25 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.28 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.70 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.83 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.30 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 17.55 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.67 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.67 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.76 ไม่ระบุรายได้