กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
เตือนปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง วิกฤติรัฐธรรมนูญและระบบนิติรัฐ ความเหลื่อมล้ำ ความยากลำบากของเศรษฐกิจฐานราก และปัญหาฐานะทางการคลังจะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตมีความแตกต่างและซับซ้อนกว่าวิกฤติปี 2540
11.00 น. 2 ก.ค. 2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินบทเรียนและวิเคราะห์วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เทียบกับปัจจุบัน ปี 2562 และอนาคตเนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปีวิกฤติปี 2540 (2 ก.ค.) ว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจแบบปี 2540 จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยจะประสบปัญหาฐานะการคลังและการเติบโตในระดับต่ำกว่าศักยภาพยาวนาน ภาวะล้มละลายอาจเกิดขึ้นได้จากการดำเนินนโยบายแบบประชานิยมเกินขนาด ซึ่งต่างจากปี 2540 ที่เป็นเรื่องของการลงทุนและการก่อหนี้เกินตัวของภาคเอกชน นอกจากนี้กิจการต่างๆและธุรกิจอุตสาหกรรมเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบอย่างฉับพลันได้ ทำให้เกิดการปิดกิจการตามด้วยปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะนี้ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 41-42 พันล้านดอลลาร์ มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.15 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก ต่างจากช่วงก่อนปี 2540 ที่เรามีปัญหาการขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและมีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นจำนวนมาก ตอนปี 2540 อัตราเงินเฟ้อก็สูงมีปัญหาฟองสบู่ ตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างต่ำแต่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้นเพิ่มขึ้นแต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศ แต่เครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ก่อหนี้จำนวนมากเพื่อการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อระบบการเงินโดยรวมด้วย เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการ การกู้จากต่างประเทศและหนี้สินจะมีการทำประกันความเสี่ยง ในขณะที่ปี พ.ศ. 2561-2562 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนมีในบางภาคเศรษฐกิจและบางพื้นที่เท่านั้นและการลงทุนเอกชนไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่การลงทุนภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัวสะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่างๆสามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเตือนว่า ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง วิกฤติรัฐธรรมนูญและระบบนิติรัฐ ความเหลื่อมล้ำ ความยากลำบากของเศรษฐกิจฐานราก และปัญหาฐานะทางการคลังจะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตมีความแตกต่างและซับซ้อนกว่าวิกฤติปี 2540 ความเสี่ยงทางการเมืองนั้นหากเป็นเพียงภาวะไร้เสถียรภาพและรัฐบาลอายุสั้นรวมทั้งยังแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังพอประคับประคองไปได้ หากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองเป็นผลจากการกระทำนอกกฎหมายหรือรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยอาจจะรับมือไม่ไหวและนำไปสู่วิกฤติแน่นอนโดยเฉพาะจะกระทบต่อภาคการลงทุนอย่างรุนแรง เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.6 ขณะที่อัตราการขยายตัวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช ต่ำกว่าร้อยละ 3 ประเทศไทยจึงมีปัญหาการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามากกว่าปัญหาเศรษฐกิจขยายอย่างร้อนแรง ช่วงก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 นั้นสัดส่วนของการลงทุนภายในประเทศต่อรายได้ประชาชาติพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 41.4% จึงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อตอบสนองการเติบโตของการลงทุน ส่วนปัจจุบันสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีอยู่ที่ต่ำกว่า 25% สภาพคล่องภายในมีมากเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องกู้จากต่างประเทศ มีข้อสังเกตและบทเรียนเกี่ยวกับวิกฤติปี 2540 เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี ดังนี้
ช่วงวิกฤติปี 2540 ไทยมีช่องว่างระหว่างระดับการออมและระดับการลงทุนสูงและ การลงทุนเกินตัวทให้ต้องอาศัยเงินออม (กู้เงิน) จากต่างประเทศ เอกชนลงทุนเกินตัวเพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวยการลงทุนในประเทศและการส่งออกของไทย ทำให้ภาคเอกชนไทยเร่งการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาที่ดินและราคาหุ้นในประเทศสูงขึ้น ดึงดูดให้ภาคการเงินแข่งขันกันปล่อยกู้ในกิจกรรมดังกล่าว การเปิดเสรีภาคการเงินทำให้สถาบันการเงิน กู้เงินจากต่างประเทศ ที่มีต้นทุนต่ำมาปล่อยกู้ในประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนมากเกินไป ในขณะที่ภาคการเงินที่มีโครงสร้างแบบผูกขาดมาเป็นเวลานาน ขาดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่ปี พ.ศ. 2562 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนมีในบางภาคเศรษฐกิจและบางพื้นที่เท่านั้นและมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล การลงทุนเอกชนไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่การลงทุนภาครัฐมีเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัวสะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่างๆสามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป ช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 การเมืองไม่มีเสถียรภาพ และ การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็จะมีปัญหารัฐบาลผสมที่อ่อนแอ
2. การพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอัตราสูงไม่ใช่ปัญหา หากมีการบริหารจัดการที่ดีไม่ให้มีสัดส่วนของเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป เงินทุนที่ไหลเข้าก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 สองสามปีมีสัดส่วนของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) น้อย การลงทุนเข้ามาถือหุ้นร่วมกิจการก็น้อยเมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าในรูปของเงินกู้และที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นทางด้านสถาบันการเงินก็ต้องมีระบบการปล่อยสินเชื่อที่มีมาตรฐานและโปร่งใส สถานการณ์ขณะนี้ เราเปิดกว้างในการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ EEC จำเป็นต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างทุนชาติและทุนข้ามชาติจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลข FDI ขณะนี้ก็ยังน้อยกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548
3. ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 มีการเปิดเสรีการเงินผ่านการเปิดเสรีวิเทศธนกิจ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบสถาบันการเงินไทยจำนวนมาก ทำให้สถาบันการเงินในประเทศมีการขยายสินเชื่อในอัตราเร่ง คุณภาพสินเชื่อเริ่มลดลง อัตราส่วนระหว่างการปล่อยสินเชื่อต่อปริมาณเงินฝากสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เมื่อสิ้นไตรมาสสองของปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณของหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนขณะนี้ สถานะทางการเงินของระบบสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง แม้นหนี้เสียเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อันเป็นผลกระทบจากนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน การแข่งขันในภาคการเงินรุนแรงขึ้นจากการแข่งให้บริการโดยกลุ่ม non-bank ผลของเงินดิจิทัลจะส่งผลอย่างไรต่อระบบการเงิน ต้องมีการศึกษาและรับมืออย่างจริงจัง
4. ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) ขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่พร้อมกับยังมีการเติบโตร้อนแรงอยู่ในภาคการลงทุนส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศยิ่งสร้างแรงผลักดันให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นและดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 40 ผู้ให้กู้ให้สินเชื่อแบบผ่อนคลายมากขึ้น โครงการต่างๆขยายโดยใช้สัดส่วนของสินเชื่อค่อนข้างสูงและหลายโครงการกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อประหยัดดอกเบี้ย โดยมีสมมติฐานว่าไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะมั่นใจว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระบบตะกร้าเงิน ขณะนี้ นโยบายการเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบที่ยืดหยุ่นลอยตัวตามกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในเชิงระบบลงได้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มาทำหน้าที่แทน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไร ทางการจึงควรออกมาตรการสกัดกั้นเงินทุนเก็งกำไรเหล่านี้ หากไม่เข้าไปบริหารจัดการการแข็งค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาต่อสินค้าส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทย
5. ช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 สภาพคล่องที่ผ่อนคลายและปริมาณเงินขยายตัวในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาผสานเข้ากับความร้อนแรงของการลงทุนและการเก็งกำไรทำให้ราคาที่ดินและหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจัยพื้นฐานมากจนเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในปัจจุบัน ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมากในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น เขตเศรษฐกิจ EEC หัวเมืองใหญ่ ยังไม่มีสัญญาณชัดนักในภาวะฟองสบู่ในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศควรมีระบบข้อมูล Big Data ครอบคลุมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อหรืออุปสงค์ สินเชื่อสถาบันการเงิน เป็นต้น สาเหตุปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกช่วงปี 2540 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดข้อมูล ทำให้เกิดปัญหา oversupply การเก็งกำไร และสินเชื่อด้อยคุณภาพ ปัญหาฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ได้ก่อให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากในระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการ LTV เพื่อสกัดความร้อนแรง การเก็งกำไรและฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์แล้ว โดยมาตรการ LTV ได้ก่อให้เกิดการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์มากกว่าที่คาด
6. ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ก่อนปี พ.ศ. 2540 ทางการไทย (รัฐบาลไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงาน ทางเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ) ไม่สามารถใช้มาตรการหรือนโยบายต่างๆหยุดยั้งภาวะฟองสบู่และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของอุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นโยบายการคลังที่เข้มงวดและเกินดุลมากพอที่จะลบล้างความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าไม่ได้เกิดขึ้น นโยบายการเงินเข้มงวดโดยปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยสูงไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก นโยบายเพิ่มทุนสำรองและกีดกันการนำเข้าของเงินกู้ระยะสั้นมีการดำเนินแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากพอ
7. มีการโจมตีและการเก็งกำไรค่าเงินโดยกองทุนเก็งกำไรและนักลงทุนช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 มีการโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ได้มีพฤติกรรมการโจมตีค่าเงินในประเทศอ่อนแอ ทางเศรษฐกิจ ค่าเงินของหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานในหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น การโจมตีค่าเงินในสหภาพยุโรป ปี 2535 และเม็กซิโก 2537 ประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นจะมีแนวโน้มที่ถูกโจมตีมากกว่าประเทศอื่นๆ (IMF Research Department Staff (1997)) นอกจากนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินในเม็กซิโก ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลใจกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ที่มีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด และมีแนวโน้มว่าจะมีการลดค่าเงิน นักลงทุน นักเก็งกำไรเริ่มเห็นโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากการที่ประเทศไทยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจร้อนแรงมีภาวะฟองสบู่ ค่าเงินถูกกำหนดให้แข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลพยายามลดความรุนแรงของปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะฟองสบู่ กิจกรรมเก็งกำไรแต่ไม่เป็นผลนัก เงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นของภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสียสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมเก็งกำไร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศลดลงอย่างมาก อันดับความน่าเชื่อถือของไทยถูกปรับลดลงโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เงินทุนต่างประเทศเริ่มทยอยไหลออกเป็นจำนวนมากจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท
ช่วงเดือนธันวาคม 2539 ใช้เงินตราต่างประเทศในการแทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 4.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาเมื่อมีข่าวลือการลดค่าเงินในช่วงเดือนมกราคม 2540 นักลงทุน ได้เข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท ธปท. แทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี พ.ศ. 2539 และมีฐานะเงินสำรองทางการ
หักยอดคงค้างสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือทุนสำรองทางการสุทธิ เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นจำนวน 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2540 การปกป้องค่าเงินบาททำให้ทุนสำรองสุทธิลดลงจากระดับ 24.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงเดือนมิถุนายน 2540 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออก ส่งผลให้เงินทุนของนักลงทุนไทย ไหลออกนอกประเทศ ส่งผลให้ทุนสำรองสุทธิลดลง จนกระทั่งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
ในที่สุดภายใต้แรงกดดันของตลาดการเงินระหว่างประเทศและปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทหรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนระบบคงที่แบบตะกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate System) เป็น ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Floated Exchange Rate System) โดยในวันดังกล่าวทุนสำรองสุทธิของไทยเหลืออยู่ในระดับ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์การโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากตลาดการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากเงินทุนไหลกลับจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และ QE exit ของธนาคารกลางยุโรป
8. ก่อนวิกฤติปี 2540 ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เมื่อใช้ในสภาวะที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจำกัดอุปสงค์รวมได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูง ผู้ลงทุนจะหันไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นก็ต่ำกว่าไทยมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้ต่อประเทศระยะสั้นจำนวนมาก ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน มองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาจะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง และ อียูอาจทำนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ทางการไทยจึงควรปรับนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นหากทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกกลับมาเป็นขาลง
9. เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประเทศจะสามารถขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องได้จะต้องมีการเกินดุลบัญชีเงินทุน ในกรณีของประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเงินทุนในส่วนของเงินกู้จากต่างประเทศ และเป็นหนี้ระยะสั้น ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เชื่อว่าประเทศสามารถจ่ายหนี้ได้ในอนาคต และสามารถรักษาระดับเงินทุนไหลเข้า
10. การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยหลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัย การผลิตมากขึ้นมิใช่จากการยกระดับผลิตภาพและเทคนิคการผลิต การเพิ่มคุณภาพของปัจจัยการผลิตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอิสราเอล การเพิ่มผลิตภาพรวมของปัจจัยการผลิต (Total Factor Productivity, TFP) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคุณภาพของปัจจัยการผลิต และการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้นนั้นเป็นที่มา (Source) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยควรร่วมกันเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก รวมทั้ง รักษาวินัยทางการเงินการคลังเพื่อไม่ให้วิกฤติแบบปี 2540 กลับมาซ้ำรอยในอนาคต