กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--TCELS
TCELSร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านความชรา จัดตั้งสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัย วิธีการชะลอความแก่ให้คนไทยเป็นหนุ่มสาวพันปีครั้งแรกในประเทศไทย เชื่อมั่นต่อไปนี้คนไทยที่มีอายุมากขึ้นอาจจะไม่ต้องพึ่งเครื่องสำอางราคาแพงต้านเหี่ยว และป้องกันปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นอัมพาต เพราะต้องรับดูแลคนสูงอายุที่เจ็บป่วยเพราะสุขภาพเสีย
นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย หรือทีเซลส์ (TCELS) ให้สัมภาษณ์ว่า TCELS ได้ร่วมลงนามกับ นพ.กฤษดา ศิรามพุช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์(Anti —Aging Medicine ) จัดตั้งสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ (International Anti-Aging Institute: IAAI) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเริ่ม ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ คือ พ.ศ. 2553 โดยไทยจะมีจำนวนประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ และมีประชากรเด็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 จากข้อมูลการสำรวจผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยมหิดล ล่าสุดพ.ศ. 2550 มีผู้สูงอายุทั้งหมด 6,824,000 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 อายุ 60-79 ปี โดยมีอายุเกิน 100 ปี ทั่วประเทศเพียง 4,000 คนเท่านั้น
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุวัฒน์คนแรก กล่าวว่า สัดส่วนประชากรสูงอายุในขณะนี้ กำลังเติบโตเรื่อยๆ แต่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 50 มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคประจำตัวเรื้อรังรักษาไม่หายขาด ที่พบมากได้แก่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากขาดการดูแลมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากขาดจุดศูนย์การศึกษาวิจัย ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมนำไปสู่การป้องกันที่จะเสนอเป็นยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายชัดเจน ครอบคลุม สนับสนุนบุคลากรและองค์ความรู้ในประเทศในการป้องกันสุขภาพกาย สุขภาพใจของคนไทยให้อ่อนกว่าอายุจริง เป็นการเตรียมตัวการเข้าสูวัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ
"ผลการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุทั่วประเทศน่าห่วงมาก จากการศึกษาระดับประเทศล่าสุด พ.ศ. 2550 พบว่าผู้สูงอายุ ร้อยละ 52 ไม่เคยตรวจสุขภาพ และในปี 2548 พบผู้สูงอายุทุก 1 ใน 2 คน ป่วยเรื้อรัง มีโรคประจำตัวที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคข้อเสื่อม ปวดข้อเรื้อรัง พบร้อยละ 60 ปวดหลังเรื้อรังร้อยละ 50 โรคตาต้อกระจกร้อยละ 40 มีไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 15- 20 โดยผู้สูงอายุ 1 ใน 5 เป็นผู้ทุพพลภาพ ช่วยตัวเองไม่ได้ ทำให้เตียงของโรงพยาบาลทั่วประเทศขณะนี้ ร้อยละ 28 เป็นเตียงของผู้ป่วยสูงอายุ แนวโน้มจะมากขึ้น คาดว่า ภายใน 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปี จะมีเกือบล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาว่า ต้องใช้งบประมาณในการดูแลด้านสุขภาพ มากกว่า คน อายุ 20,30 ,40, 50 ปีรวมกัน"นพ.กฤษดากล่าว
นพ.กฤษดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ในบ้านเรามีขบวนการที่ทำให้ร่างกายเราแก่กว่าอายุจริง บางคนอายุ 60 ปี หัวใจทำงานไม่ไหวแล้ว อยากให้คน 60 ปี ไม่มีพุง ไม่มีเบาหวาน ความดันชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้ แต่เราขาดกระบวนการป้องกันอย่างชัดเจน จึงกลายเป็นภาระตัวเอง ครอบครัว องค์กร ประเทศชาติ ไม่มีกำลังเงินเพียงพอที่จะให้บริการผู้สูงอายุได้ชัดเจน
ด้านนพ.ธงชัยกล่าวว่า การตั้งสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติครั้งนี้ มีความสำคัญมาก TCELS จะสนับสนุนองค์ความรู้ในการจัดการและสร้างเครือข่ายในการพัฒนาการกระจาย เน้นการพัฒนา 3 ด้านคือ องค์ความรู้ การวิจัยและ การบริการ นำไปสู่การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ อย่างชัดเจน ทันสมัย เพื่อนำไปสู่การจัดระบบการบริการการแพทย์และการสาธารณสุข รวมทั้งระบบการศึกษาของประเทศ จุดที่มุ่งเน้นที่สำคัญที่สุดคือ จะได้ยุทธศาสตร์สำคัญที่เสนอประเทศให้การดูแลสุขภาพของประชาชนที่จะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก่อนเวลา เรียกว่า โปรลองเอคทีฟไลฟ์(Prolong active Life )เพื่อจะให้ใครก็ตามที่จะเข้าสู่ 60 ปี มีสุขภาพดี แข็งแรง ทำให้ประเทศชาติยั่งยืนคงอยู่ต่อไป ด้วยสภาพที่ไม่ต้องรองรับผู้สูงอายุที่ป่วย จนกระทั่งเศรษฐกิจเป็นอัมพาต
และเมื่อมีสถาบันสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ จะรวบรวมสรรพกำลังต่างๆ เพื่อชะลอความชรายืดความแข็งแรงกระฉับกระเฉงให้อยู่กับเรานานที่สุด โดยให้คน 45 ปี รู้ว่าต้องเตรียมข้อมูลด้านสุขภาพ ค้นหาโรคและพฤติกรรมเสี่ยงเช่น โดยการตรวจสารพันธุกรรม ตรวจยีน ตรวจฮอร์โมน์ ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป รวบรวมพฤติกรรมสุขภาพ การทำงาน การกิน การใช้เวลาว่างอย่างเป็นระบบของแต่ละคนมีตัวชี้วัดชัดเจนนำไปสู่การแก้ไขเพื่อให้อายุยืนยาวอย่างสุขภาพดี