กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
บล.ไทยพาณิชย์จับตาพัฒนาการด้านสงครามการค้าและการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่อง แม้ว่าสหรัฐฯยังไม่ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่าอีก 3.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้คาดว่าเฟดไม่มีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ ทั้งนี้ ประเมินว่า การที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงดำเนินต่อไปใน 2H62 ยังคงมีโอกาสสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินได้ทุกเมื่อ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วง 1H62 รวมถึง มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น (Late cycle) ดังนั้น จึงแนะนำให้โฟกัสหุ้นที่อ้างอิงปัจจัยในประเทศ (domestic play) ที่มีอัตราการเติบโตของกำไรดี และ ได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA และ ROJNA) กลุ่มการแพทย์ (CHG) กลุ่มธนาคาร (KTB ) และ กลุ่มปิโตรเคมี (IVL) ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้น Global play ที่ปลอดภัยจากประเด็นสงครามการค้า
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะดำเนินต่อไปใน 2H62 และยังคงมีความเสี่ยงที่จะเป็นตัวฉุดรั้งทั้ง sentiment ตลาดการเงิน และภาวะเศรษฐกิจโลก นอกเหนือจากปัจจัยกดดันที่เกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงปลายวัฎจักรขาขึ้น (late cycle) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสงครามการค้าอาจจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จึงเชื่อได้ว่าสหรัฐฯกับจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าบางอย่างร่วมกันได้บ้างในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายน่าจะลดภาษีนำเข้าในส่วนของสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯที่เพิ่งประกาศขึ้นภาษีเป็น 25% ไปในเดือน พ.ค.ลงในอีก 3-6 เดือน ข้างหน้า แต่ในทางตรงข้าม หากสหรัฐฯกลับมาประกาศเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าอีก 3.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีนมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงอีก 15-20% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะแข็งแกร่งกว่าโดยมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง 7-10% จากระดับปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน ตลาดการเงินโลกกำลังติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ในช่วงเดือนกรกฎาคมอย่างใกลัชิด โดยคาดว่าเฟดมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% แต่เนื่องจากเราคาดว่าเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะขยายตัวในระดับปัจจุบันต่อไปทำให้คาดว่าไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการประชุม G-20 ที่สหรัฐฯยังไม่ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนอีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากสหรัฐฯตัดสินใจขึ้นภาษีสินค้านำเข้าดังกล่าว คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย Fed funds rate ลง 50 bps เหตุผลที่ SCBS มองแตกต่างจากตลาดเป็นเพราะเราเชื่อว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันตลาดการเงินให้ความสำคัญแค่ Sentiment ซึ่งความเป็นจริงแล้วต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก
ด้านเศรษฐกิจไทย พบว่า เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในภาคต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวลง 4.9% YoY และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP growth contributor) ติดลบค่อนข้างมาก (-3.6 percentage point) ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้ง GDP ใน 1Q62 ที่ขยายตัว 2.8% ดังนั้น ปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปี 2562 จึงจำเป็นต้องพึ่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึง การท่องเที่ยวเป็นหลัก โดย SCBS คาดการณ์ GDP ปี 2562 ไว้ที่ 3.3%
กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2562 หุ้น Top pick มุ่งเน้นไปที่หุ้นที่อ้างอิงปัจจัยในประเทศ (domestic play) ที่มีประเด็นการเติบโตและได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA และ ROJNA) กลุ่มการแพทย์ (CHG) กลุ่มธนาคาร (KTB ) และ กลุ่มปิโตรเคมี (IVL) ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้น Global play ที่ปลอดภัยจากประเด็นสงครามการค้า
- AMATA : กำไรแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และได้ประโยชน์จาก EEC นอกจากนี้การย้ายสายการผลิตมายังประเทศไทยจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการย้ายฐานผลิตออกมาจากจีนเพราะมีห่วงโซ่อุปทานและให้ผลประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่าประเทศอื่น
- ROJNA : รายได้ประจำช่วยป้องกันความเสี่ยงและได้ประโยชน์จากวัฎจักรการลงทุนรอบใหม่
- CHG : เชื่อมั่นปันผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เมื่อมองต่อไปข้างหน้า คาดกำไรจะปรับตัวดีขึ้นใน 2H62 ในด้าน valuation หุ้นกลุ่มการแพทย์ซื้อขายที่ PE 32 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 35 เท่า
- KTB : กำไรพิเศษได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายภาครัฐและสินเชื่อฟื้นตัว
- IVL : valuation ไม่แพงและกำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ยังมีผลกระทบน้อยที่สุดจากสงครามการค้าในปัจจุบัน