กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา ร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) จัดอบรม สาขาเทคโนโลยีการเชื่อมสมัยใหม่ (Modern Welding Technology ) เพิ่มทักษะการเชื่อมเหล็กรางรถไฟ และตัดโลหะใต้น้ำ ย้ำ ! รายได้สูง
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การปฏิบัติงานเชื่อมและตัดโลหะ มีการจ้างงานหลายลักษณะ เช่น การทำงานบนฝั่ง นอกชายฝั่ง หรือแม้แต่ใต้น้ำ โดยอัตราค่าจ้างจะมีความแตกต่างกันขึ้นกับทักษะความสามารถการเชื่อมและตัดโลหะใต้น้ำ นอกจากนี้ การพัฒนาและขยายตัวด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อู่ต่อเรือ ซ่อมบำรุง แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลและท่อส่งต่างๆจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดสภาวะขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา จึงร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) จัดอบรม สาขาเทคโนโลยีการเชื่อมสมัยใหม่ รุ่นที่ 2/2562 จำนวน 30 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 24 - 28 มิ.ย. 62 มีผู้เข้าฝึก จำนวน 21 คน จากสถานประกอบการ จำนวน 10 แห่ง
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมเน้นการปฏิบัติ ทั้งงานเชื่อมใต้น้ำ การเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ การเชื่อมระบบราง การเชื่อมมิกและแม็ก การเชื่อมแบบ CMT การเชื่อมทิก การเชื่อมพลาสม่า รวมถึงการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ รวมถึงการฝึกดำน้ำ และฝึกปฏิบัติการเชื่อมใต้น้ำ โดยมีผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ประภาศ เมืองจันทร์บุรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นวิทยากรซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และจะมีการอบรมรุ่นที่ 3/2562 ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. 62
นายวิศรุต แสงวิมาณ (รุต) อายุ 32 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ปัจจุบันปฏิบัติงานในตำแหน่งช่างเชื่อมรางรถไฟ เล่าว่า ทำงานมาแล้ว 8 ปี สามารถเชื่อมงานได้หลายประเภท แต่ไม่เคยเชื่อมโลหะใต้น้ำเลย เมื่อบริษัท คัดเลือกให้เข้าอบรม จึงเป็นโอกาสดี เพราะได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ รวมถึงได้เรียนรู้วิธีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์อีกด้วย รุตบอกอีกด้วยว่า งานเชื่อมเป็นงานเฉพาะด้านและอันตราย เราต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวดในเรื่องของความปลอดภัย แต่รายได้สูง เชื่อมใต้น้ำมีรายได้ประมาณ 50,000 บาท แต่หากเป็นช่างเชื่อมรางรถไฟที่รุตปฏิบัติหน้าที่ ก็จะมีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาท
ด้านนางอารี เตชะวันโต ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา (สพร.12 สงขลา) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ปตท.สผ. ได้สนับสนุนงบประมาณอีกจำนวน 5.5 ล้านบาทให้กับ สพร.12 สงขลา เพื่อจัดซื้อเครื่องเชื่อมเสมือนจริงใช้ในการฝึกอบรม ดำเนินการฝึกอบรมอีก 3 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีงานเชื่อมสมัยใหม่ กำหนดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. 62 สาขาเทคนิคการขับรถลากจูง ระหว่างวันที่ 18 ก.ค.-12 ส.ค. 62 และสาขาการเชื่อมและตัดโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 12-26 ก.ค.62 ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (074) 336-049 ต่อ107 หรือ www.dsd.go.th/songkhla
"การเรียนการสอนด้านงานเชื่อมใต้น้ำในต่างประเทศ เช่น ประเทศนอร์เวย์ อังกฤษ และอเมริกา มีค่าใช้จ่ายในการเรียนค่อนข้างสูง ประมาณ 170,000 – 180,000 บาท ต่อคนต่อหลักสูตร การดำเนินงานในประเทศไทย จึงต้องบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การฝึกโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา ร่วมกับ ปตท.สผ. จึงเป็นการฝึกช่างเชื่อมใต้น้ำแห่งเดียวในประเทศไทย" อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย