กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
เพราะตระหนักว่า การเพิ่มเติมความรู้ ต่อยอด ประยุกต์ นำมาซึ่งแรงบันดาลใจการพัฒนาในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหัตถกรรมให้ดียิ่งๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้ SACICT จึงนำ ครูศิลป์ของแผ่นดิน, ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เดินทางสู่ประเทศตุรกี เพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ภูมิปัญญา ทักษะและเทคนิคในงานศิลปหัตถกรรม พร้อมสร้างมุมมองที่กว้างมากขึ้น โอกาสนี้ นำเยี่ยมชมการสร้างงานเซรามิคและลูกปัด โดยศิลปินระดับโลก
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT ได้นำคณะฯ เดินทางไปประเทศตุรกี เพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ภูมิปัญญา ทักษะและเทคนิคในงานศิลปหัตถกรรม จากแหล่งที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์เป็นที่ชื่นชอบ หลงใหลของคนจากทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศตุรกีได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอารยะธรรมที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งตะวันตกและตะวันออก ระหว่างเอเซีย และยุโรป อยู่ด้วยกัน เป็นประเทศที่มีเรื่องราวแห่งตำนานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และอารยธรรมเก่าแก่ หลากหลาย มีงานศิลปะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ จนเป็นที่ชื่นชอบ หลงใหลของคนจากทั่วโลกที่ได้มาเยือน ตุรกี จึงนับได้ว่าเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นระดับโลก เช่น งานผลิต "เซรามิก" ที่มีเอกลักษณ์แห่งสีสันและลวดลายที่มีประวัติความเป็นมานับพันปี งาน "ทอพรม" ที่มีความโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งหนึ่งที่สำคัญของโลก การสร้างสรรค์ "เครื่องประดับ" อันเป็นที่นิยมในสไตล์แบบวัฒนธรรมยุโรป
โอกาสนี้ ครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทฯ ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้การทำ "ลูกปัดดวงตา" งานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศตุรกี ที่บ้าน Mr. Mahmut Sur. ศิลปินช่างฝีมือในหมู่บ้านนาซาคอย (NAZARKOY: VILLAGE) เมืองอีซเมียร์ แหล่งผลิต "ลูกปัดดวงตา" ขึ้นชื่อของตุรกี แต่ในปัจจุบันการผลิตลูกปัดดวงตา กำลังเผชิญกับการตีตลาดลูกปัดดวงตาจากจีน ด้วยวัสดุพลาสติก หรือเรซิ่น และการผลิตแบบอุตสาหกรรม ทำให้ช่างฝีมือผู้ผลิตลูกปัดดวงตาแบบดั้งเดิมไม่สามารถสู้ราคาได้ จึงค่อยๆ เลิกผลิตไปจำนวนมาก เหลือเพียงบ้าน "Mr. Mahmut Sur." แห่งเดียว ที่ยังคงผลิตด้วยกรรมวิธีโบราณดั้งเดิม ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ และมีช่างฝีมือเหลืออยู่เพียง 3 คน เท่านั้น Mr. Mahmut Sur. ในวัย 33 ปี ได้สืบทอดการทำ "ลูกปัดดวงตา" จากคุณพ่อ มาจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 22 ปีแล้ว โดยยังคงทำทุกขั้นตอนด้วยมือแบบดั้งเดิม เผาด้วยเตาเผาแบบโบราณดั้งเดิม ที่มีมาเมื่อ 3000 กว่าปีที่แล้ว โดยเตาเผาจะใช้ไฟจากฟืนไม้สน ออกแบบให้มีลักษณะเป็นช่องๆ มี 5 ช่อง เพื่อให้ช่างฝีมือ 5 คน ทำงานในกระบวนการผลิตแต่ละช่องได้พร้อมๆ กัน
ทว่า ปัจจุบัน ช่างฝีมือที่เคยมีเหลืออยู่เพียง 5 คน ได้เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน เหลือเพียง 3 คน คือ Mr. Mahmut Sur. และ น้องชายอีก 2 คน และอาจจะเป็น 3 คนสุดท้าย หากสิ้นทั้ง 3 คนนี้แล้ว "ลูกปัดดวงตา" แบบโบราณคงสูญหายไปในที่สุด เพราะทายาท ไม่มีใครสนใจที่จะสืบสานต่อแล้ว
Mr. Mahmut Sur เป็นหนึ่งในศิลปิน "Nazar Boncugu Master" ที่ได้รับรางวัล "Living Human Treasure" จากองค์การยูเนสโก้ และกระทรวงวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของตุรกี ด้วยเป็นบุคคลที่ส่งเสริมและอนุรักษ์งานหัตถกรรมทำ "ลูกปัดดวงตา" ทำมือด้วยกรรมวิธีอบบโบราณดั้งเดิม ที่กำลังใกล้สูญหาย
นอกจากงานลูปปัดแล้ว ตุรกียังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเซรามิกรายใหญ่ของโลก ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเครื่องปั้นเซรามิกที่สวยที่สุด ดีที่สุด จนติดอันดับของโลก มักมาจากแหล่งผลิตที่เมือง
คัปปาโดเกีย ประเทศตุรกี ซึ่งสืบทอดการทำเครื่องปั้นเซรามิกต่อกันมานับพันปี ที่เมืองนี้ จะมีศิลปินที่เรียกว่า พอตเตอร์หรือช่างฝีมือ ที่มาอยู่รวมกันหลายคน แต่ละคนจะมีสตูดิโอของตัวเองที่เปิดให้ผู้คนที่มาเยือนได้เข้าชม และหนึ่งในโรงงาน หรือแหล่งผลิตงานเซรามิกที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองคัปปาโดเกีย คือ โรงงานเซรามิก "Chez Galip" โดย Mr. Galip Korukcu ซึ่งโรงงานแห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยเสด็จทอดพระเนตรการผลิตเซรามิก เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศตุรกี ด้วย
Mr. Galip Korukcu เป็นหนึ่งในศิลปินระดับช่างฝีมือ ที่มีชื่อเสียง ประจำเมืองคัปโดเกีย ด้วยเอกลักษณ์รูปลักษณ์ที่ดูคล้ายกับ "อัลเบิร์ตไอน์สไตน์" เขาคร่ำหวอดกับงานเซรามิกมาเกือบทั้งชีวิต หรือเกือบ 60 ปีแล้ว โดยเรียนรู้จากคุณพ่อ ซึ่งทำเซรามิกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น และแม้ว่ามาถึงรุ่น Mr. Galip ในขณะนี้ ก็ยังคงอนุรักษ์กระบวนการทำเซรามิกด้วยมือแบบดั้งเดิม และส่งต่อไปยังผู้ที่มาฝึกฝนเรียนรู้กับเขาที่โรงงานแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งชายและหญิง และมาจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์
การสร้างผลงานเซรามิกของ Mr. Galip นอกจากทักษะฝีมือความชำนาญแล้ว เขาจะใช้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายช่วยสร้างสมดุลกับภาชนะที่ขึ้นรูป เช่น ข้อมือ แขน ขา นิ้วมือ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ เลย แต่สามารถสร้างความพอดีและความสมดุลให้กับผลงานได้อย่างน่าอัศจรรย์ ฝีมือการสร้างผลงานเซรามิกที่มีความพิเศษแตกต่างจากงานเซรามิกทั่วไปของเขา คือ การเขียนลายสีให้มีความ "นูน" เป็นจุดๆ ทำให้ผลงานดูมีมิติ นอกจากนี้ ผลงานพิเศษสุด และเป็นจุดขายของ Mr. Galip และโรงงานเซรามิก Chez Galip คือ ผลงานที่มีแสงทะลุจากด้านหน้าถึงด้านหลัง แม้อยู่ในความมืด หรือเรียกว่า "ผลงานเรืองแสง" โดยใช้เนื้อดินพิเศษที่นำเอาฟอสฟอรัสมาผสมในเนื้อดิน ถือเป็นความพิเศษ ที่สร้างผลงานให้มีมูลค่า และแตกต่าง นอกจากนี้ Mr. Galip Korukcu ยังถือเป็นศิลปินระดับโลก โดยชื่อของเขาได้ปรากฎอยู่ใน "กินเนสบุ๊ก" ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกได้รับการบันทึกด้วยผลงานการผลิตหม้อ ใหญ่ที่สุดในโลก ครั้งที่ 2 ได้รับการบันทึก ด้วยผลงานการทำพิพิธภัณธ์ "ผมมนุษย์" ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ประหลาดที่สุด และมีที่เดียวในโลก
การที่ คณะฯ ได้เยี่ยมชมการสร้างงานลูกปัดและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเซรามิกกับศิลปินระดับโลก ของประเทศตุรกี ในครั้งนี้ ถือเป็นการเรียนรู้ถึงเทคนิควิธีการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนรูปแบบผลิตภัณฑ์จากช่างฝีมือระดับโลก ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและแนวคิดจากการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนำมาปรับประยุกต์เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่างแก่ผลงานของแต่ละคนได้มากขึ้น