กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--บลจ.กรุงไทย
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 2 กองทุนให้นักลงทุนได้เลือกตามความเหมาะสม ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 246 ( KTFF246 ) อายุโครงการ 6 เดือน และกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 249 ( KTFF249 ) อายุโครงการ 12 เดือน ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 เงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยทั้ง 2 กองทุนเน้นลงทุนในเงินฝากประจำ Bank of China , Abu Dhabi Commercial Bank , Qatar National Bank , AL Khalij Commercial Bank , AL Ahli Bank และ Commercial Bank PQSC ผลตอบแทนกองทุน KTFF246 อายุ 6 เดือน อยู่ที่ 1.80% ต่อปี และกองทุน KTFF249 อายุ 12 เดือน อยู่ที่ 2.00%ต่อปี
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ ตามการคาดการณ์ ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุม ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 7 bps. มาอยู่ที่ 1.77% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 5 bps. มาอยู่ที่ 1.80% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 2 bps. มาอยู่ที่ 2.07% ต่อปี โดยกองทุน KTFF246 และ KTFF249 เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง และต้องการโอกาสรับผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ หลังจากที่บริษัทได้เปิดการเสนอขายครั้งแรก ( IPO) กองทุนเปิดเคแทม อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ อิควิตี้ ฟันด์ ( KT-EMEQ) ระหว่างวันที่ 17- 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีจากกนักลงทุน มียอดเงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท พร้อมเปิดเสนอขายครั้งถัดไปในวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย และผู้สนับสนุนการขายกว่า 50 แห่งทั่วงประเทศ เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท
ทั้งนี้ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย มองว่า Emerging Markets Equity "หุ้นตลาดเกิดใหม่" เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่( EM) มีศักยภาพการเติบโตสูง และ ราคาหุ้นยังถูก
เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดย IMF คาดการณ์ ) GDP ของ EM +4.4% ในปีนี้และ +4.8% ในปี 2020 (เทียบกับ 1.8% และ 1.7% ของตลาดพัฒนาแล้ว) เศรษฐกิจ EM มีศักยภาพการเติบโตสูงเนื่องจาก 1) โครงสร้างประชากร หลายประเทศ EM มีอายุเฉลี่ยน้อย โดยเฉพาะในแอฟริกาและลาตินอเมริกา สัดส่วนคนวัยทำางานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต 2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศ EM ส่วนใหญ่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ จึงมีโอกาสเติบโตจากการลงทุนด้านนี้อีกมาก 3) การปฏิรูป ช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ ประเทศที่เดินหน้าปฏิรูปในด้านต่างๆได้ดี เช่น ระบบราชการ ภาษี กฎหมาย ภาคธนาคาร อุตสาหกรรม การศึกษา ฯลฯ จะดึงดูดเงินลงทุนในระยะยาว และ4) ชนชั้นกลางขยายตัว มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยขับเคลื่อน "การบริโภค" ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ หุ้น EM มีระดับราคาถูก หลายแห่งถูกกว่าหุ้นของตลาดพัฒนาแล้วมาก หลังจาก EM เผชิญปัจจัยกดดันสาคัญ 2 ประการ ในช่วงปีเศษๆที่ผ่านมา 1) เฟดขึ้นดอกเบี้ย-ดอลลาร์แข็งค่า กดดันหุ้น EM ร่วงลงจนเข้าสู่ภาวะหมี (bear market) แต่ในที่สุดเฟดก็หยุดพักการขึ้นดอกเบี้ย และเริ่มส่งสัญญาณว่า ดอกเบี้ยอาจปรับลดลงในระยะถัดไป ส่งผลให้ดอลลาร์กลับอ่อนค่า "ปัจจัยกดดัน" EM ในปีที่แล้ว จึงพลิกกลับเป็น "ปัจจัยหนุน" ในปีนี้ ขับเคลื่อน Fund Flows ให้มีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ Emerging Markets 2) สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ได้แปรเปลี่ยนเป็น "สงครามเย็นด้านเทคโนโลยี" ในระยะยาว ภาคธุรกิจตลอดจนรัฐบาลประเทศต่างๆ รับรู้และเริ่มปรับตัว ดังนั้น กองทุน KT-EMEQ จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และควรพิจารณามีไว้ในพอร์ตการลงทุน เพื่อโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน