กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ความสำคัญและประโยชน์ในระยะยาวของโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"(Belt and Road Initiative) ของประเทศจีน ต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และแนวโน้มเศรษฐกิจและอันดับเครดิตของประเทศจีน เป็นประเด็นหลักที่ได้มีการนำเสนอโดยวิทยากรในงานสัมนาครึ่งปีของ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ที่จัดขึ้นในวันนี้ในหัวข้อเรื่อง "แนวโน้มอันดับเครดิตและการลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิกของประเทศจีน "
มร.สตีเฟ่น ชวาร์ส หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า เศรษฐกิจของจีนยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวและความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ยังคงอ่อนแอจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อตอบสนองกับสถานะการณ์ดังกล่าว การกำหนดนโยบายของจีนจึงมุ่งไปในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับที่ระมัดระวัง เมื่อเทียบกับมาตรการผ่อนคลายที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของภาครัฐในด้านการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สินและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะปานกลาง ฟิทช์ ประมาณการว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีน (GDP) จะมีอัตราการเติบโตที่ 6.2% ในปี 2562 และ 6.0% ในปี 2563 โดยสงครามทางการค้าที่ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่ออัตราการเติบโต
ในการบรรยายหัวข้อ "การลงทุนของจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก" ของ ดร. จื่อกัง หลี่ ประธานกรรมการธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าว้ถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อเศรษฐกิจโลก ดร.หลี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 60% ของประชากรโลก และมีขนาด GDP คิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP โลก อัตราการเติบโตของ GDP ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 5.5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่าน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ดร.หลี่ กล่าวว่า "ไอซีบีซีเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศจีนได้มีการดำเนินการพัฒนาความเชื่อมโยงกับหลายประเทศในย่าน เอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเป็นเวลานาน ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของโครงการ 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 คือการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเป็นการเชื่อมโยงทั้งในด้านถนน ระบบราง ท่าเรือ เส้นทางขนส่งพลังงาน รวมทั้งระบบการจัดการการขนส่งสินค้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมในโครงการ ซึ่งสุดท้ายแล้วเป้าหมายหลักก็คือเพื่อพัฒนามาตรฐานการครองชีพของประชากรในภูมิภาคนี้"
คุณวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าระดับความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคสามารถสะท้อนได้จากการเติบโตอย่างมากของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศจีนและการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมูลค่าการค้ากับประเทศจีนมีสัดส่วนคิดเป็น 16% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมของไทย และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของรายได้การท่องเที่ยวรวมของไทย แม้ว่าการลงทุนจากประเทศจีนในไทยยังคงอยู่ในระดับที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐฯ แต่เม็ดเงินในการทุนจากประเทศจีนคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการและการเติบโตของการลงทุนจากภาคเอกชนของจีน ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้มากกว่า 100 คน ซึ่งเป็นผู้บริหารด้านการเงินจากบริษัทในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย บริษัทจัดการกองทุน เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ