กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กรุงเทพมหานคร
นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวตามที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดผู้เสียหายต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน แล้วนำเอกสารมาขอภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ศูนย์บริหารจัดการกล้อง (CCTV) ของ กทม. เพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีเอง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของตำรวจในการติดตามสืบหาพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำมาดำเนินคดี นั้น กทม. มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จำนวน 53,204 กล้อง แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ 1) แบบเชื่อมโยงสัญญาณภาพ จำนวน 15,128 กล้อง ได้เชื่อมสัญญาณภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ไปยังสถานีตำรวจนครบาล จำนวน 88 แห่ง และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บกน.1 - 9) จำนวน 9 แห่ง โดยเจ้าพนักงานสอบสวนสามารถเรียกดูภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ของ กทม. ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลนั้น ๆ ได้ทันที และ 2) แบบไม่เชื่อมโยงสัญญาณภาพ จำนวน 38,076 กล้อง อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงสัญญาณภาพเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการกล้องวงจรปิด (CCTV) จำนวน 12 แห่ง และศูนย์ควบคุมระบบกล้อง ศาลาว่าการ กทม. 1 คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมโยงสัญญาณภาพแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ กทม. ยังมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงกล้องวงจรปิด (CCTV) โดยแบบเชื่อมโยงสัญญาณภาพ ดำเนินการตรวจสอบทุกวัน ส่วนแบบไม่เชื่อมโยงสัญญาณภาพ ดำเนินการตรวจสอบทุก 15 วัน ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากข้อมูลภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) อาจมีผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของบุคคล ดังนั้น การขอสัญญาณภาพจึงต้องแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานสอบสวนก่อน โดยเจ้าพนักงานสอบสวนสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพกล้องวงจรปิด (CCTV) ของ กทม. ได้ทันทีที่สถานีตำรวจนครบาลนั้น ๆ แต่หากเป็นกล้องแบบไม่เชื่อมโยงสัญญาณภาพ เจ้าพนักงานสอบสวนจะประสานขอรับภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) จาก กทม. นอกจากนี้ ประชาชนสามารถโทรศัพท์แจ้งความประสงค์ขอคัดลอกข้อมูลภาพไว้ก่อน เมื่อได้ข้อมูลภาพแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้มารับภาพพร้อมนำหลักฐานมายื่นในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ กทม. จะพัฒนาระบบการขอข้อมูลภาพให้รวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป