กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กรุงเทพมหานคร
นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ กทม. ปฏิรูประบบการยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคารว่า ในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือต่อเติมอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือประชาชนตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 และตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อาทิ มาตรา 25 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต พร้อมเหตุผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาต ทราบภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ แต่หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจออกใบอนุญาตหรือยังไม่อาจมีคำสั่งไม่อนุญาตได้ตามกำหนดเวลา ให้ขยายเวลาออกไปอีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 45 วัน แต่ต้องมีหนังสือแจ้งการขยายเวลาและเหตุจำเป็นแต่ละครั้ง ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ และในกรณีที่แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขแบบแปลนเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องตรวจพิจารณาแล้วออกใบอนุญาตภายใน 30 วัน ส่วนมาตรา 39 ตรี กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องออกใบรับแจ้งให้ผู้แจ้งที่ชำระค่าธรรมเนียมการตรวจแบบภายใน 3 วันทำการ และภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้ออกใบรับแจ้ง หรือนับแต่วันที่เริ่มก่อสร้างดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร หากตรวจสอบพบเหตุไม่ถูกต้อง กรณีแจ้งข้อมูลหรือยื่นเอกสารไม่ถูกต้องให้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วง ให้ผู้แจ้งดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ภายใน 15 วัน ส่วนกรณีแบบแปลนแผนผังบริเวณหรือรายการคำนวณไม่ถูกต้อง ซึ่งทั้ง 2 กรณีดังกล่าว จะต้องมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้แจ้งดำเนินการก่อสร้างดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารดังกล่าวให้ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน หากผู้แจ้งไม่ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าผู้แจ้งไม่ประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารตามที่ได้แจ้งไว้นั้นอีกต่อไป และให้มีคำสั่งยกเลิกใบรับแจ้งที่ได้ออกไว้และให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล องค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการพัฒนาแบบการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะส่งให้กรมโยธาธิการและผังเมือง พิจารณารูปแบบต่อไป ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกิดความโปร่งใส และประชาชนผู้ขอรับบริการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลง หรือต่อเติมอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น