กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากกรณีที่วาฬหัวทุย(Spermwhale, Physeter macrocephalus) เพศผู้ วัยรุ่น ขนาดลำตัวยาว 11.33 เมตร[1] ลอยเสียชีวิตอยู่กลางทะเลระหว่างเกาะหม้อกับเกาะห้า จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) แถลงถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติจากระบบหายใจล้มเหลวร่วมกับการติดเชื้อทั่วร่างกาย ภายในกระเพาะอาหารพบขยะเป็นขวดพลาสติก 3 ใบและถ้วยพลาสติก 1 ใบนั้น พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าขยะพลาสติกจะไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิตของวาฬหัวทุยในครั้งนี้ แต่ตราบเท่าที่สังคมมนุษย์ยังปล่อยให้มีขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มปริมาณมากขึ้นในสิ่งแวดล้อมทางทะเล มลพิษพลาสติกจะยังคงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามของความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตและสัตว์ทะเลหายากอยู่ต่อไป"
รายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายาก พ.ศ.2560 [2] ระบุว่า จากการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากกลุ่มโลมาและวาฬที่เกยตื้นระหว่างปี พ.ศ.2549-2559 รวมระยะเวลา 11 ปี โลมาและวาฬส่วนใหญ่เสียชีวิตมาก่อนแล้ว ทำให้ความสำเร็จในการช่วยเหลือโลมาและวาฬยังมีค่อนข้างต่ำ เนื่องจากจากโลมาและวาฬที่เกยตื้นส่วนใหญ่มีอาการป่วยที่ค่อนข้างรุนแรง รายงานยังระบุอีกว่า ขยะเป็นสาเหตุของการเกยตื้นซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าเฉลี่ยของเต่าทะเลและโลมาที่กลืนขยะและเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหารมีร้อยละ 2-3แต่เมื่อรวมการเกยตื้นที่มีขยะทะเลเกี่ยวพันภายนอกโดยเฉพาะขยะจำพวกอวนซึ่งพบมากในเต่าทะเล สัดส่วนการเกยตื้นจากสาเหตุขยะจะสูงถึงร้อยละ 20-40
ข้อมูลปริมาณขยะทะเลในประเทศไทยประจำปี 2561 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุ ถุงพลาสติก กล่องโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกคือขยะทะเล 3 อันดับแรกซึ่งพบมากที่สุดและมีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งแสนชิ้น [3] ขยะพลาสติกในทะเลซึ่งสะท้อน "วิกฤตแห่งความสะดวกสบาย" ของสังคมมนุษย์เหล่านี้คือมลพิษพลาสติกที่เป็นภัยคุกคามหลักของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลซึ่งเป็นระบบสนับสนุนค้ำจุนชีวิตของมนุษย์เอง
พิชามญชุ์ รักรอด กล่าวเพิ่มเติมว่า "ไม่มีห้วงเวลาใดที่เร่งด่วนมากไปกว่านี้อีกแล้วหากเราต้องต่อกรวิกฤตมลพิษพลาสติก รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบาย มาตรการและแผนงานโดยเฉพาะการยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียว 7 ชนิด ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ออกประกาศเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติเพื่อตั้งกองทุนที่ทำงานเป็นอิสระเพื่อฟื้นฟูทะเลไทย และเน้นการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนเพื่อเปิดกว้างให้กับกระบวนการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากสาธารณะชน(public support) แทนการรณรงค์สร้างจิตสำนึกอย่างฉาบฉวย ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็ว(Fast Moving Consumer Goods) ต้องมีนโยบายและคำมั่นที่ชัดเจนในการลงมือปฏิบัติเพื่อยกเลิกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป"
หมายเหตุ
[1] วาฬหัวทุย(Spermwhale)เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลไทย(Cetaceans of Thailand) ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่พบในทะเลเขตน้ำลึกบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต สตูล ในขณะที่การศึกษาสถานภาพและการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรโลมาและวาฬในธรรมชาติยังจำกัดเฉพาะในกลุ่มประชากรจำถิ่นใกล้ฝั่ง
[2] https://bit.ly/2NG4n5E
[3] http://tcc.dmcr.go.th/thaicoastalcleanup/report