กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพีรพนธ์ กิจโกศล ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 13,14 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายเผด็จ ลิ้มอุบัติตระกูล ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ และคณะให้การต้อนรับ
โรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 16,272,000 บาท และทางกลุ่มเกษตรกรสมทบเพิ่มอีก จำนวน 1,808,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด สำหรับรองรับข้าวเปลือกจากสมาชิก ได้แก่ โรงสีข้าว ขนาด 24 ตัน/วัน พร้อมอุปกรณ์และโรงเรือน จำนวน 1 แห่ง, เครื่องยิงสี ขนาด 130 ช่อง จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องซีลสุญญากาศ ขนาด 1 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องชั่งและบรรจุ กึ่งอัตโนมัติ ขนาด 15 - 50 กิโลกรัม จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งทางกลุ่มฯได้ตั้งเป้า ที่จะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้รับ มารวบรวมข้าวเปลือกหอมมะลิจากสมาชิกในฤดูกาล ซึ่งจะเริ่ม เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้ ประมาณ 2,000 ตัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่าย เบื้องต้น บริษัท การบินไทย จำกัด ได้สั่งซื้อข้าวสารจากกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบแล้วจำนวนกว่า 100 ตัน
ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ มีสมาชิก 405 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักทำนา และทำไร่ เลี้ยงสัตว์และทำประมง เป็นอาชีพเสริม โดยทางกลุ่มฯได้ดำเนินธุรกิจบริการสมาชิก ทั้งการให้สินเชื่อเพื่อนำไปประกอบอาชีพ การจัดหาสินค้าและปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายสมาชิก และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายให้ เกษตรกรนำไปใช้เป็นพันธุ์ข้าวเพาะปลูก ธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือก เพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร ปีละประมาณ 1,960 ตัน มูลค่า 39.128 ล้านบาท โดยทางกลุ่มฯได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์การเกษตรที่รวบรวมข้าวเปลือกในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด สหกรณ์การเกษตรพุทไธสง จำกัด สหกรณ์การเกษตรนาโพธิ์ จำกัด กลุ่มนาแปลงใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง และการเชื่อมโยงเครือข่ายในการจำหน่ายข้าวสารกับกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อวากิลบุรีรัมย์และสหกรณ์การเกษตรนาโพธิ์ จำกัด
ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้คำแนะนำกับคณะกรรมการของกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตและ แปรรูปข้าวสารทั้งปี โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะสามารถสีข้าวขายได้ปีละกี่พันตัน และต้องประสานกับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือภาคเอกชนเพื่อหาตลาดรองรับให้ชัดเจนก่อนจึงจะไปส่งเสริมให้สมาชิกปลูก เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตตรงกับที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้ ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก ตั้งแต่ต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อทยอยสีเป็นข้าวสารและกระจายสู่ตลาด พร้อมทั้งให้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวสารให้มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ และสามารถเก็บรักษาคุณภาพของข้าวได้ระยะเวลายาวนาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสารของทางกลุ่มฯได้ในที่สุด