กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะเทคนิคการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมอย่างปลอดภัย โดยประเมินสภาพเส้นทาง เพื่อคาดการณ์ความสูงและความแรงของกระแสน้ำ ปิดเครื่องปรับอากาศ ลดความเร็ว รักษารอบเครื่องยนต์ ไม่เกิน 1,500 – 2,000 รอบต่อนาที ใช้เกียร์ต่ำ ไม่เร่งเครื่อง ลดการใช้เบรก รวมถึงเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากรถคันหน้าหยุดกะทันหันหรือเกิดเหตุขัดข้อง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การขับรถผ่านเส้นทางที่มีน้ำท่วมขัง มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายมากกว่าปกติ รวมถึงอาจทำให้เครื่องยนต์ชำรุดเสียหาย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ขอแนะเทคนิคการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมขังอย่างปลอดภัย ดังนี้ ประเมินสภาพเส้นทาง โดยสังเกตจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว อาทิ เสาไฟฟ้า ต้นไม้ ถังขยะ เพื่อคาดการณ์ความสูงของระดับน้ำและความแรง ของกระแสน้ำ ปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันพัดลมแอร์พัดเข้าไปในห้องเครื่องทำให้เครื่องยนต์ดับ รวมทั้งพัดเศษวัสดุเข้าไปติด ในมอเตอร์พัดลมหรือใบพัด ทำให้ระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์ขัดข้อง ลดความเร็ว เพื่อป้องกันคลื่นน้ำปะทะกับรถที่สวนทางมา ทำให้น้ำกระเด็นบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางหรือพัดเข้าห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย รวมถึงให้ใช้ความเร็วต่ำ และรักษาความเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ รักษารอบเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 – 2,000 รอบต่อนาที หากรอบเครื่องต่ำ อาจทำให้เครื่องยนต์ดับ แต่หากรอบเครื่องยนต์สูงเกินไป จะทำให้น้ำพัดเข้าเครื่องยนต์ ใช้เกียร์ต่ำ รถเกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 รถเกียร์อัตโนมัติใช้เกียร์ L ไม่เร่งเครื่องยนต์ เพราะจะทำให้ใบพัดระบายความร้อนทำงานหนัก ส่งผลให้น้ำท่วมห้องเครื่อง ลดการใช้เบรก ให้ใช้แรงเฉื่อยของเครื่องยนต์ในการหยุดหรือชะลอความเร็วรถ เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกรณีรถคันหน้าขัดข้องหรือหยุดกะทันหัน ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรระมัดระวังการขับขี่บนเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย เพราะอาจ มีหลุมลึกบนถนน โดยให้จอดรถประเมินสถานการณ์ และสังเกตรถคันอื่นก่อนขับรถผ่านเส้นทางดังกล่าว จะช่วยป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นได้