กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สถานการณ์ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
ในเดือนมิถุนายน 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย จำนวน 2.9 ล้านคน สร้างรายได้ 1.44 แสนล้านบาท และในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2562) มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 19.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 0.7 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.3 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย และอินเดีย ตามลำดับP
แม้ว่าเดือนมิถุนายนจะไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และผลจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on arrival) ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว ชาวอินเดียเดินทางมาไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ประมาณ 1.8 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 22.2 ซึ่งการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย จะช่วยลดความผันผวนของรายได้จากการท่องเที่ยวจากส่วนแบ่งการตลาดของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวอินเดียถือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของไทย มีการใช้จ่ายในการเดินทางต่อครั้งค่าเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อครั้งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วไปที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 45,000 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยนักท่องเที่ยวอินเดียมีอัตราการเติบโตตลาดเฉพาะกลุ่มสูง เช่น กลุ่มท่องเที่ยวสุขภาพ กลุ่มคู่รักหลังแต่งงาน กลุ่มการ จัดแต่งงาน กลุ่มถ่ายทำภาพยนตร์ กลุ่มเดินทางเพื่อการประชุม เป็นต้น1
อัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวรายภูมิภาค ม.ค. – มิ.ย. 2562
P Preliminary ข้อมูลเบื้องต้น ครั้งที่ 1 (ข้อมูลเบื้องต้นจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง)
- สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศ
ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 ชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 76 ล้านคน-ครั้ง ก่อให้เกิดรายได้ 0.54 ล้านล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 5 จากปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขอนแก่น (+7.44%) รองลงมา บุรีรัมย์ (+5.69%) และจันทบุรี (+5.24%) ตามลำดับ
รายได้จากการท่องเที่ยวปัจจุบัน และแนวโน้มด้านการท่องเที่ยวปี 2562
นับตั้งแต่มกราคม – มิถุนายน 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก่อให้เกิดประโยชน์ในรูปของรายได้ แก่ประเทศ และกระจายรายได้ดังกล่าวสู่ภูมิภาคต่าง ๆ รวม 1.55 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้คาดการณ์แนวโน้มด้านการท่องเที่ยวปี 2562 ดังนี้
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่าในไตรมาส 3/2562 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 9.70 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.06 จากช่วงเดียวกันของปีผ่านมา และคาดการณ์ว่า ปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 40.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.65 จากปีผ่านมา และสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2.13 ล้านล้านบาท2
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่าในปี 2562 จะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 3.38 ล้านล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 9.5 แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2.21 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยว ในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท โดยเป็นการปรับลดจากเป้าหมายเดิม 20,000 ล้านบาท 3
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 39.0 - 39.8 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 2.0 - 4.0 โดยตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี จะได้แก่ ตลาดนักท่องเที่ยวเอเชีย เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ขณะที่ ตลาดนักท่องเที่ยวจีน แม้อัตราการเติบโตคงเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังมีความท้าทายด้านการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจ และค่าเงิน ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปอย่างรัสเซียนั้น ยังอาจเห็นการหดตัว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 จากความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศตุรกีและยุโรป ที่เพิ่มมากขึ้นของชาวรัสเซีย4
กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่า ควรต้องเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว อย่างใกล้ชิด เพราะการเดินทางท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงความกังวลและความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยา แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า อัตราการเติบโตด้าน การท่องเที่ยวยังอยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบกับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เข้าสู่ฤดูกาล Low Season ทั้งนี้ หากประเมินในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโต เนื่องจากเข้าสู่ระยะฤดูกาลของการท่องเที่ยว ประกอบรัฐบาลใหม่อาจมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2562 คาดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวในประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.3 แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ 1.1ล้านล้านบาท
ประเด็นความท้าท้ายด้านการท่องเที่ยว
ปัจจัยสนับสนุน
+ มาตรการต่าง ๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากรัฐบาลใหม่
+ การเข้าสู่ฤดูด้านการท่องเที่ยวของไทย
+ การคลี่คลายจากปัญหา Trade War ระหว่างสหรัฐและจีน
+ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงไตรมาส 4
+ ความมั่นคงทางการเมืองและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ปัจจัยเสี่ยง
- การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการเดินทางของท่องเที่ยว - การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่รุนแรง เช่น การดึงดูดนักท่องเที่ยวยุโรป ของประเทศตุรกี และการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ของประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เป็นต้น
- การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินบาท
จากภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศของโลกที่ชะลอลง อาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวด้านรายได้และราคา และจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ หลายประเทศใช้ภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และให้ความอำนวยความสะดวกในมาตรการด้านการท่องเที่ยว เพื่อแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ดังนั้น ประเทศไทยควรส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และกิจกรรมการตลาดอื่น ๆ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว อาทิ ขยายระยะเวลาการคืน VAT ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และเพิ่มจุด Downtown VAT Refund ให้ครอบคลุมห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพฯและครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับทราบนโยบายดังกล่าวมากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองหลักควบคู่เมืองรองผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เพิ่มมาตรการภาษีในช่วง Low Season
- แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต
ในระยะที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันกับส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อม ชุมชนเจ้าของพื้นที่จากปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว (Over Tourism) ดังนั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการพัฒนา ภาคการท่องเที่ยวในระยะยาว และคำนึงถึงความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) การบริหารจัดการเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง รวมถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการให้บริการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว