กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กฎหมายใหม่มาแรง "พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา" ผลงานรัฐบาลลุงตู่ที่สร้างความเป็นธรรมให้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
"กฤษฎา" ชูกฎหมายใหม่ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเริ่มใช้เมื่อ 2 ปีก่อน "พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560" ที่รัฐบาลคสช. ทำเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรเข้ารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง กำหนดให้ทำสัญญาปริมาณการรับซื้อและรับประกันราคา นับเป็นระบบเกษตรกรรมที่จะช่วยให้เกษตรกรมีผู้รับซื้อผลผลิตแน่นอน ตามราคาที่ตกลงกัน ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถจัดหาผลผลิตทางการเกษตรได้ตามปริมาณและคุณภาพที่ต้องการล่าสุดมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนธุรกิจเกษตรพันธสัญญาแล้วกว่า 200 ราย
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรและผู้ประกอบการสนใจทำเกษตรระบบพันธสัญญาเพิ่มมากขึ้น จากที่กระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนตามพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ 27 พ.ย. 2560 จนถึงปัจจุบัน (ก.ค. 62) การรับแจ้งการประกอบธุรกิจนั้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาแจ้งประกอบธุรกิจแล้ว 225 ราย ยืนยันการรับแจ้งและขึ้นทะเบียนแล้ว 214 ราย ประกอบด้วย ด้านพืช 160 ราย ด้านปศุสัตว์ 39 ราย ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11 ราย ด้านปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1 ราย ด้านพืช ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1 ราย ด้านพืชและด้านปศุสัตว์ 2 ราย และมีส่วนที่อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐาน 11 ราย
รัฐมนตรีเกษตรกล่าวว่า วิถีการทำเกษตรกรรมในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้เปลี่ยนรูปแบบไป เนื่องจากประชากรโลกเพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการอาหาร (Demand) เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสูงขึ้นทำให้โครงสร้างการผลิตทางการเกษตรเปลี่ยนไป ต้องใช้เทคโนโลยีและเงินทุนมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและคุณภาพผลผลิต (Supply) รวมทั้งทำให้มีความแน่นอนทางด้านราคาด้วย จากเดิมเกษตรกรใช้ระบบการผลิตแบบครัวเรือนหรือในฟาร์มขนาดเล็กซึ่งต้นทุนการผลิตสูง เผชิญกับความเสี่ยงด้านรายได้ที่ไม่แน่นอน ขณะที่กลุ่มบริษัทธุรกิจการเกษตร ที่เดิมเป็น "คนกลาง" นั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรวบรวมสินค้าเกษตรและส่งออกแล้ว แต่เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของโลกข้างต้นทำให้การผลิตภาคการเกษตรปรับกระบวนการเป็น "อุตสาหกรรมการเกษตร" คือ เน้นการผลิตในปริมาณ ที่มากขึ้น นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในผลิตและการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต่างๆ เช่น ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงของเกษตรกร เพิ่มมูลค่าของผลผลิต จนเกิดความสัมพันธ์แบบใหม่ในห่วงโซ่การผลิตที่เน้นการรวมตัวและกำกับดูแลซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจำหน่ายปัจจัยการผลิต การแปรรูป กระทั่งการส่งออก ที่เรียกว่า "ระบบเกษตรพันธสัญญา" (Contract Farming)
ทั้งนี้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายใหม่ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยวางหลักเกณฑ์และมาตรการในการกำกับดูแลการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ หลายประการคือ สามารถตรวจสอบทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจากกระทรวงเกษตรฯ ได้ก่อนทำสัญญา พ.ร.บ. ดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องจัดส่งเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาให้เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดสำคัญที่จำเป็นก่อนตัดสินใจทำสัญญา นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้กระทรวงเกษตรฯ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรในการทำสัญญาและป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อและชี้ชวนเกินจริง ในหนังสือสัญญาต้องกำหนดระยะเวลาการทำสัญญาให้สอดคล้องกับระยะเวลาคืนทุน ระบุวิธีการคำนวณราคาวัตถุดิบและผลผลิต และใช้ราคา ณ วัน เวลา วันและสถานที่ใดในการส่งมอบ ข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ใครเป็นผู้รับความเสี่ยงภัย การเยียวยาความเสียหาย สิทธิการบอกเลิกสัญญา และที่สำคัญคือ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจะไม่สามารถใช้บังคับได้
สำหรับฝ่ายผู้ประกอบการที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรคู่สัญญาจะได้รับผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณ และได้คุณภาพที่ตกลงกัน ตามเวลาที่กำหนดในสัญญา ดังเช่น บริษัท อีส เวส์ ซีด (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตราศรแดง มีเกษตรกรคู่สัญญา 25,000 ราย พื้นที่ 13,000 ไร่ใน 20 จังหวัดทุกภาค เมื่อบริษัทเข้าไปส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตแก่เกษตรกรทำให้บริษัทได้รับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ด้านบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลไม้กระป๋องต้องการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และระยองปีละ 200,000 ตัน เมื่อเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาแล้ว ทางบริษัทได้รับผลไม้คุณภาพดี และรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรได้ตรงกับตารางการผลิตของโรงงานผลไม้กระป๋อง ส่วนบริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัดซึ่งผลิตแป้งมันสำปะหลัง เมื่อเข้าไปส่งเสริมปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยแก่เกษตรกรทำให้ได้หัวมันสำปะหลังที่มีปริมาณ แป้งสูงตามต้องการ อีกทั้งมีปริมาณเพียงพอที่จะป้อนโรงงานที่ต้องการหัวมันสำปะหลังสด 1,200 ตันต่อวัน เพื่อให้ได้ แป้งมันดิบ 350 ตัน เป็นต้น
"กรณีเกิดข้อพิพาท ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา กฎหมายระบบเกษตรพันธสัญญากำหนดให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อน โดยมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยห้ามมิให้คู่สัญญา ชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติตามสัญญาในระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หากการไกล่เกลี่ยไม่ประสบผลให้นำคดีไปสู่การพิจารณาของศาลต่อไป ที่ผ่านมาได้ไกล่เกลี่ยและยุติข้อพิพาท โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว 2 เรื่องใน 2 จังหวัดและอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 เรื่อง ใน 16 จังหวัด ซึ่งการทำเกษตรระบบนี้เป็นการสร้างกระบวนการพัฒนาการผลิตร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อีกทั้งนำไปสู่การสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว" รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ การทำระบบเกษตรพันธสัญญาเกิดขึ้นมานาน ขณะนี้มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาได้แก่สหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา สำหรับผลผลิตทางการเกษตรในประเทศพัฒนาแล้วอยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาเช่น ฟาร์มโคนม สัตว์ปีก และอ้อยในเยอรมนี ผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อในญี่ปุ่น ปัจจุบันธุรกิจแปรรูปอาหารที่มาจากระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่ระหว่างร้อยละ 60-85 ของธุรกิจทางการเกษตรในสาธารณรัฐเชคโกสโลวาเกีย และฮังการี นอกจากนี้ในจอร์เจีย เอมมาเนีย ยูเครน และรัสเซีย โดยระบบเกษตรพันธสัญญาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการผลิตผลไม้ พืชไร่ ยางพารา อ้อย ปศุสัตว์ และประมง ทั้งเป็นทุนที่ดำเนินการมาจากภายในประเทศและต่างประเทศหรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment)
รัฐมนตรีเกษตรฯ ย้ำว่า ที่ผ่านมาแม้ประเทศต่างๆ จะมีประสบการณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบจากการทำระบบเกษตรพันธสัญญา แต่กระทรวงเกษตรฯ ได้นำระบบการทำเกษตรพันธสัญญามาใช้ในไทย โดยมี "พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560" ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากำกับดูแลอย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ