กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ทะเลและชายฝั่ง นับว่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษยชาติ ทั้งในฐานะของการเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย แหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อการเติบโตทางระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่าในปี พ.ศ.2557 ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่าร้อยละ 84 จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากทะเลและชายฝั่งทั้งเพื่อดำรงชีพและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น ทะเลไทยก็เช่นกัน ด้วยทรัพยากรที่มีหลากหลาย รวมถึงมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของไทยที่มีอย่างมหาศาล อีกทั้งกิจกรรมทางทะเลมีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และประมง ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของไทยที่มีมูลค่าสูงและยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย ขณะที่สถานภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะลและชายฝั่งของไทยกลับมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง ทั้งจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปะการังฟอกขาว ขยะทะเล ฯลฯ ซึ่งผ่านมาประเทศไทยยังขาดการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลต่อความไม่ยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ทางทะเลได้
รองศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า เนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน ให้ความสำคัญการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการป้องกันและจัดการปัญหาจากความเสี่ยงใหม่ ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านความปลอดภัยสาธารณะ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์กรที่มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเสมอภาพและเท่าเทียมกันทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลย์ระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของภาคนโยบาย และเพิ่มขีดความสามารถของสังคมในการจัดการปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต
"สกสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งที่มีต่อมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความสำคัญมากขึ้น จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทะเล โดยการขับเคลื่อนประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issues : SRI) ในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ชุดโครงการยุทธศาสตร์การจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล , ชุดโครงการแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน , ชุดโครงการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายทางทะเลแห่งชาติสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG14) และการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยประเด็นวิจัยยุทธศาตร์ด้านผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะล (Roadmap of SRI7) นอกจากนี้ยังมีโครงการสถานการณ์และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน , โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย , โครงการการพัฒนาแผนที่เขตแดนทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย เป็นต้น"
รองศาสตราจารย์ ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ผู้ประสานงานชุดโครงการความรู้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายทางทะเลแห่งชาติสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 14) กล่าวว่า การมีระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สมบูรณ์ ย่อมมีผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ และยังเป็นหลักประกันความยั่งยืนในอนาคตของมนุษย์และระบบนิเวศของโลก ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้สามารถดำรงไว้ซึ่งความสมดุลทางนิเวศและความสามารถในการรองรับการใช้ทรัพยากรจากมนุษย์ย่อมต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้และกลไกการจัดการที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่ต้องร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้
นอกจากนี้ ทิศทางการพัฒนาในระดับนานาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งให้ภายในปีค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 โลกของเราจะสามารถสร้างสมดุลการพัฒนาระหว่างความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมนั้น ในเป้าหมายที่14 (SDG14 Life below Water) ที่ถือว่าให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งนับว่าประเทศไทยเองนอกจากจำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในระดับโลกแล้ว ประเทศไทยถือเป็นรัฐชายฝั่งที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เชื่อมต่อกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค และกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญจากประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง อาทิ การการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การท่องเที่ยวทางทะเลเกินขีดความสามารถของระบบนิเวศ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นต้น จึงนับได้ว่าไทยมีความเสี่ยงและกำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่สำคัญของประเทศที่ต้องได้รับการพิทักษ์ ปกป้อง และบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
"หนึ่งในแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์สำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนต่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยคือ แนวคิดว่าด้วยเศรษฐกิจสีน้ำเงิน "Blue Economy" ที่เน้นส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้มีความยั่งยืนและนำไปสู่การเติบโตของระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวได้ ซึ่งเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ถือเป็นอีกหนึ่งผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทยที่จำต้องได้รับการพิทักษ์ ปกป้อง และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและที่สำคัญคือสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเศรษฐกิจสีน้ำเงินให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และมีความยั่งยืนภายใต้วิธีคิดแบบใหม่ที่เป็นระบบมากขึ้น อาศัยความเข้าใจและความร่วมมือระดับนานาชาติ ต้องและคำนึงถึงบริบทของเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่แตกต่างจากเศรษฐกิจบนแผ่นดินอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย"
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะต้องอยู่บนหลักการความมั่นคงของระบบนิเวศที่ว่า"ทะเลเป็นทรัพยากรสาธารณะ ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงและได้รับประโยชน์" หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ทางทะเลประกอบด้วย 3 มิติที่เชื่อมโยงกัน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม