กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และนางสาวธิญาดา ควรสถาพร และนางณัชปภา ควรสถาพร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการปลูกไม้โตเร็วตามมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อผลิตและจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่มีความต้องการนำเชื้อเพลิงชีวมวลไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ปีละประมาณ 30 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อทดแทนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีความเสี่ยงและอันตรายสูง
สำหรับขอบเขตของความร่วมมือมีดังนี้ 1) เพื่อศึกษาถึงจำนวนพื้นที่สวนป่าของ อ.อ.ป. ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมสำหรับนำมาใช้ในการปลูกไม้โตเร็วตระกูลกระถิน (Acacia spp.) ภายใต้แนวทางการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และขีดความสามารถของ อ.อ.ป. ในการลงทุนปลูกไม้ดังกล่าว 2) เพื่อศึกษาถึงปริมาณผลผลิตไม้โตเร็วตระกูลกระถิน (Acacia spp.) ที่นำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อนำไปจำหน่ายต่างประเทศ 3) เพื่อศึกษาถึงเทคโนโลยีการแปรรูปไม้โตเร็ว (Acacia spp.) เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและระบบการขนส่งของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวลที่มีประสิทธิภาพ 4) เพื่อศึกษาปริมาณความต้องการและราคาในตลาดต่างประเทศของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวล
จากไม้โตเร็วตระกูลกระถิน (Acacia spp.) ที่ได้รับการรับรองการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่องทางการจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวในตลาดต่างประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกและเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และ 5) เพื่อส่งเสริมแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างคุ้มค่า พร้อมแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน สร้างแรงงานวิชาชีพและแรงงานท้องถิ่น รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มการเก็บกักธาตุคาร์บอน ลดก๊าซคาร์บอนดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และตรึงไนโตรเจนลงสู่ดินจากการปลูกไม้ตระกูลกระถิน (Acacia spp.)
ทั้งนี้ คาดว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถนำผลการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากไม้โตเร็วตระกูลกระถิน ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวล สามารถส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรปลูกไม้มีค่าโตเร็ว เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวลสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต