กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ปลื้ม "พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า" แหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา แนะ อพวช.ต้องทำให้ผู้ชมเกิดแรงบันดาลใจเดินตามรอย"กษัตริย์นักพัฒนา"
"พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า" ของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) คลองห้า จ.ปทุมธานี ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วยจุดประสงค์เพื่อ แสดงให้เห็นหลักการคิด วิธีการทรงงานและกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของอาเชียนและของโลก
ได้มีโอกาส ต้อนรับบุคคลสำคัญอีกครั้ง ระหว่างที่กำลังดำเนินการทดลองเปิดให้บริการเพื่อทดสอบระบบ ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.- 14 ก.ค.2562 นั่นก็คือ "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนา เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมอย่างละเอียด
เริ่มตั้งแต่ ส่วนที่ 1 โลกและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตหรือการกำเนิดโลก ที่ใช้เวลาเพียง 10 นาทีผ่านการนำอย่างเข้าใจง่ายจากวิดิโอ ทำให้ที่มาที่ไปของโลกและตัวเรา ก่อนจะมาถึงส่วนของระบบนิเวศและความหลากหลาย ที่มีการนำเสนอระบบนิเวศของทั่วโลก ตั้งแต่ แอนตาร์กติกา ทุนดรา ไทก้า เขตอบอุ่น เขตทะเลทราย และเขตร้อนเส้นศูนย์สูตร การดำรงชีพของเหล่าสัตว์และพืช ตลอดจนมนุษย์ในแต่สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนป่าหลายเผ่าในเขตร้อน ก่อนจะมาถึงส่วนต่อมา คือ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ทีมีการจำลองโมเดลการบริหารจัดการนำมานำเสนออย่างน่าสนใจ จากนั้น เข้าสู่ เรื่อบของภูมินิเวศไทยและวนนิเวศของไทย ที่จำลองเอา เขตธรรมชาติต่าง ๆ ในประเทศไทย มานำเสนอได้อย่างสนใจ
ก่อนที่จะเข้าสู่นิทรรศการสำคัญ นั่นก็คือ หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีตลอดช่วงรัชกาลของพระองค์ โดยเน้นเรื่องของแนวคิด วิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของพระองค์ ทั้งเรื่องการปลูกพืชชะลอน้ำป่าหลาก หรือการทำฝนหลวง บริเวณนี้จะมีการจัดแสดงรถ และจำลองเครื่องมือเครื่องใช้ที่พระองค์ใช้ประจำ จนถึงจำลองห้องทรงงานให้ชมด้วย และก่อนออกจากโซนนี้จะมีเก้าอี้ให้สวมแว่น VR จำลองเป็นนักบินเครื่องทำฝนหลวง ซึ่งจะได้ดูตั้งแต่เครื่องขึ้น จนถึงการโปรยสารเคมีต่าง ๆ ที่จะมีกราฟิกขึ้นให้ความรู้ประกอบ และยาวจนกระทั่งเห็นเม็ดฝนลงเลยทีเดียว
โดยหลังจากการเยี่ยมชม ดร.สุเมธ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ อพวช. ว่า "พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า" เมื่อใครได้ยินชื่อก็ต้องคาดหวังว่าจะได้มาเรียนรู้เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังนั้น อพวช. จะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า มีการนำเสนอและร้อยเรียงเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงแก่นของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจาก พระองค์ท่านได้แสดงให้คนไทยประจักษ์มาตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีแห่งการครองราชย์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่ได้พร้อมกับความเจริญที่ยั่งยืน ด้วยมีความสมดุลในตัวเอง หลากหลายโครงการในพระราชดำริจึงล้วนเป็นโครงการที่มุ่งเน้นไปสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะหากส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องขาดหายไปก็ไม่อาจแก้ไขให้คงคืนสมดุลได้ และชีวิตก็จะเสื่อมโทรมแตกดับไปในที่สุด
"การจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธพระรามเก้าถือว่ามีการร้อยเรียงเรื่องราวได้ อย่างน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การสอนให้คนรู้จักตนเอง เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน จนแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหา โดยนำหลักคิด หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ที่ทรงใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน เป็นการมองความสัมพันธ์ของทั้งระบบแบบองค์รวม ซึ่งในส่วนนี้ ผมอยากมอบโจทย์เพิ่มเติมให้ อพวช. ไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความตระหนักรู้ เข้าใจ และต้องเข้าถึง จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปพัฒนาให้เกิดผล เพื่อเป็นการสืบสานและเดินตามรอยเท้าของพระองค์ท่าน "กษัตริย์นักพัฒนา" ของปวงชนชาวไทย" ดร.สุเมธ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช. กล่าวว่า อพวช. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโจทย์จาก ดร.สุเมธ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้รู้ถึงศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ด้วยท่านเป็นข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากนี้ อพวช. จะนำโจทย์ที่ได้ไปคิดต่อและพัฒนานิทรรศการและกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยใช้ ชีวิตอย่างสมดุลร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป