กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ตอกย้ำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT SILPAKORN) เป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจดิจิทัลและการสื่อสาร เผยหลังเรียนจบได้ทำงานตามสาขาที่เรียน ยืนยันเป็นการผลิตบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ของตลาดแรงงานที่มีความต้องการสูง ระบุหลักสูตรการเรียนการสอนต้องปรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน
นายศรัณย์ แบ่งกุศลจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัปเปอร์คัซ ครีเอทีฟ จำกัด เปิดเผยในฐานะศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เอกเว็บและสื่อโต้ตอบ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) ว่า ปัจจุบันหลักสูตรนี้ตอบโจทย์ความต้องการของการตลาดแรงงานและภาคธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องการวิชาชีพเฉพาะด้านที่มาสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัลคอนเทนต์ที่ตลาดมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ได้รับจากการเรียนในหลักสูตรนี้คือสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ถึง 90% เนื่องจากได้บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับดิจิทัลเอเจนซี่ เพื่อทำหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานโฆษณาในรูปแบบดิจิทัลให้กับลูกค้าต่างๆ เช่น เอไอเอส, เอสซีจี, ซีพี,มิตรผลฯลฯ ทั้งนี้ คิดว่าตลาดดิจิทัลในอนาคตยังคงเติบโตอีกมาก ทำให้หลักสูตรนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาหาความรู้เพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจหรือทำงานประจำได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม หลักสูตร ICT SILPAKORN ได้เปิดมาแล้ว 15 ปีจึงต้องมีการปรับบ้าง ในส่วนตัวแล้วต้องการให้โฟกัสในส่วนของเว็บคอนคอนเทนต์ และคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง เพราะปัจจุบันตลาดในด้านนี้มีการแข่งขันกันสูง หลักสูตรนี้น่าจะทำให้เจาะลึกถึงรายละเอียดและความหลากหลาย เพื่อนำมาใช้ในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น
ด้านนางสาววนิดา เลิศเวช ผู้จัดการแผนกคอมพิวเตอร์กราฟฟิก บริษัท เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ จำกัด และเป็นศิษย์เก่า สาขาแอนิเมชั่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่เคยเรียนในหลักสูตรดังกล่าวว่า ถือเป็นสาขาที่ดีมากเพราะสามารถตอบโจทย์การทำงานในยุคปัจจุบันได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเทรนด์ของตลาดโลกได้เปลี่ยนไป ดังนั้น การทำตลาดผ่านระบบดิจิทัล หรือระบบออนไลน์ได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากถามว่าทำไมต้องเรียนหลักสูตรนี้ตอบได้เลยว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และยังมีความต้องการจ้างงานอีกจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถทำงานได้หลากหลายสาขา ทั้งบริษัทเกมส์ คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ดิจิทัลคอนเทนต์ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทั้งนี้ หลังจากเรียนจบมามีโอกาสได้นำเอาความรู้จากหลักสูตรนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี เพราะทำงานด้านแอนิเมชั่นให้กับภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ต้องคิดและสรรค์สร้างผลงานศิลปะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ดังนั้น หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานด้านการผลิตภาพยนตร์อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องออกไปทำงานที่กองถ่าย ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ที่ไลฟ์สไตล์การทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว
ขณะที่นายต่อสกุล ชัชวาลกิจกุล ผู้จัดการโปรเจค บริษัท ดิจิโทโปลิส จำกัด ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วชอบเล่นเกมส์จึงตัดสินใจศึกษาต่อที่คณะ ICT SILPAKORN ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานในด้านโปรแกรมเมอร์ เนื่องจากความรู้ที่ได้เรียนมาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานในอาชีพนี้โดยตรง ทั้งยังนำไปใช้ในการทำงานได้หลากหลายสาขา เพราะตั้งแต่เรียนจบจากคณะนี้ได้ไปทำงานด้านโปรแกรมเมอร์ประมาณ 1-2 ปี แต่พบว่าการเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ จึงเปลี่ยนงานไปทำในส่วนของโปรเจคแมเนจเม้นท์ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทำเป็นทีม ต้องเจอผู้คนมากมาย ถือว่าเป็นงานที่มีความท้าทายสูงมาก อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบความรู้ที่ได้เรียนในสาขานี้กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คิดว่าการเรียนการสอนต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตร ที่สำคัญอาจารย์ผู้สอนก็จำเป็นต้องอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อก้าวตามโลกที่เปลี่ยนไปและทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจำเพาะ
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) เปิดสอนทั้งหมด 3 สาขา ดังนี้ 1.สาขาวิชานิเทศศาสตร์ เปิดสอนในหลักสูตรเอกการสื่อสารเชิงธุรกิจ, เอกการสื่อสารมวลชน และเอกภาพยนตร์ 2. สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ เอกแอนิเมชั่น, เกมส์ และ เว็บและสื่อโต้ตอบ 3. สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล ผู้ที่สนใจสอบถามเพิ่มเติม รวมถึงติดตามอัพเดตข่าวสารกิจกรรมได้ที่ www.ict.su.ac.th และเฟสบุ๊ค ictsilpakorn