กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นัยสำคัญของชีวิตดิจิทัล
การพัฒนาเทคโนโลยีในสังคมดิจิทัลปัจจุบันทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูล ท่องเว็บไซท์และดูหนังฟังเพลงอย่างแพร่หลายทดแทนการดูหนังในโรงภาพยนตร์และแผ่นดีวีดี ผู้คนเริ่มใช้คอมพ์พิวเตอร์และแท็บเล็ตช่วยในการเรียนและการทำงาน ผู้คนเริ่มเปลี่ยนจากการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์มาเป็นการติดต่อสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น อาทิเช่น เฟสบุ๊ค (Facebook) ไลน์ (Line) เป็นต้น พ่อค้าแม่ค้าเริ่มหันมาทำธุรกิจทางออนไลน์มากขึ้น ผู้คนเริ่มหันมาซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ทดแทนการซื้อสินค้าและบริการจากหน้าร้านมากขึ้น ผู้คนเริ่มโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์มากขึ้น
รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลส่งผลกระทบในด้านบวกหลายประการ อาทิเช่น ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและสะดวกสบาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ช่วยลดต้นทุน ช่วยเพิ่มช่องทางในการค้าขายและสร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้หากประชากรในประเทศมีความแตกต่างทางความรู้หรือขาดโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุคดจิทัลนี้หรือที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล ย่อมนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบในการดำเนินชีวิตและในการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
การจัดทำดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การจัดทำดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล (Digital Life Inequality Index: DLII) จึงมีความสำคัญเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถาณการณ์และระดับความเหลื่อมล้ำด้านชีวิตดิจิทัล (Digital life) ในสังคมไทยอันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ ปรับปรุงการแก้ไขและการพัฒนาเชิงนโยบายโดยทั้งจากทางภาครัฐและทางภาคเอกชน โดยที่ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลนี้อ้างอิงจากผลการวิจัยเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลในประเทศไทย ของ นางสาวฐิติมา ปานศรี นักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต และ ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยสังเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจการมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2556 - 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลคำนวณจากความแตกต่างของพฤติกรรมการดำเนินชีวิตดิจิทัลของแต่ละปัจเจกบุคคลใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย รูปแบบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต รูปแบบพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และรูปแบบพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารแบบเวลาจริง อาทิเช่น ความเร็วอินเทอร์เน็ต สถานที่ ประเภทอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ ความถี่ในการใช้งาน การซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายต่างๆ การใช้โทรศัพท์ การส่งข้อมูล การค้นหาข้อมูล การใช้อีเมล์ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และการใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงาน การเรียน เล่นเกม บันเทิง เป็นต้น ทั้งนี้การวิเคราะห์กำหนดให้รูปแบบพฤติกรรมชีวิตดิจิทัลในแต่ละด้านมีคะแนนสูงสุด 100 คะแนน และค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลที่คำนวณได้จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 100 โดยที่ 0 หมายถึง มีความเสมอภาคหรือไม่มีความเหลื่อมล้ำเลย และ 100 หมายถึง มีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำรุนแรงที่สุด
สถานการณ์ชีวิตดิจิทัลของประเทศไทย ชีวิตดิจิทัล
ในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2556 – 2560) ที่ผ่านมา การใช้ชีวิตดิจิทัลของคนไทยในภาพรวมระดับประเทศมีแนวโน้มคะแนนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 23.39 คะแนน ในปี พ.ศ. 2556 เป็น 32.9 คะแนน ในปี พ.ศ. 2560 แต่อย่างไรก็ตามชีวิตดิจิทัลของคนไทยโดยเฉลี่ยยังได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยเมื่อดูคะแนนของรูปแบบพฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านต่างๆ พบว่า คนไทยพฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านการใช้อินเทอร์เน็ตและด้านการติดต่อสื่อสารแบบเวลาจริงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กลับลดลงอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากคนส่วนใหญ่เน้นการใช้เทคโนโลยีผ่านทางสมาร์ทโฟน (Smart phone) และแท็ปเล็ท (Tablet) ซึ่งสะดวกและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ (Life style) ของคนทั่วไปมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์พีซีแบบตั้งโต๊ะและแบบโน๊ตบุ๊คพกพาซึ่งมักใช้กันในแวดวงการศึกษาและการทำงานเฉพาะทางเท่านั้น
ในระดับภูมิภาค คนกรุงเทพครองอันดับ 1 ชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยมากที่สุด อันดับที่ 2 คือคนภาคกลาง เป็นที่น่าสังเกตว่าคนภาคใต้มีพัฒนาการทางด้านชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าคนภาคเหนือโดยแซงคนภาคเหนือจากอันดับที่ 4 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ในขณะที่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยน้อยที่สุดอย่างต่อเนื่อง
ในระดับจังหวัด คนกรุงเทพยังคงครองอันดับ 1 ชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยมากที่สุดในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยที่คนนนทบุรีครองอันดับที่ 2 มาในอดีตแต่ถูกคนปทุมธานีและภูเก็ตแซงขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ใน 2 ปีหลัง ทำให้คนนทบุรีตกลงมาเป็นอันดับที่ 4 ในปี พ.ศ. 2560 ในขณะที่คนแม่ฮ่องสอนได้คะแนนชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศติดต่อกันมาในอดีต แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2560 คนแม่ฮ่องสอนอันดันดีขึ้นมา 3 อันดับ โดยที่ คนสกลนคร คนนราธิวาส และคนหนองคาย ขึ้นแท่นอันดับชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยน้อยที่สุด อันดับที่ 1 2 และ 3 แทน
ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในภาพรวมระดับประเทศมีแนวโน้มไปในทางที่ดีโดยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 50.63 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 42.46 ในปี พ.ศ. 2560
ในระดับภูมิภาค ภาคตะวันอกเฉียงเหนือมีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลมากที่สุด โดยลดลงจาก 51.77 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 45.36 ในปี พ.ศ. 2560 เคียงคู่มากับภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ตามลำดับ โดยที่กรุงเทพมหานครมีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลน้อยที่สุดและแตกต่างกับภูมิภาคอื่นๆอย่างโดดเด่นชัดเจน โดยลดลงจาก 41.38 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 31.93 ในปี พ.ศ. 2560 เป็นที่น่าสังเกตว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลในภาคเหนือสูงใกล้เคียงกับภาคตะวันอกเฉียงเหนือมาโดยตลอดและแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 45.47 ในปี พ.ศ. 2560
ในระดับจังหวัด จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลมากที่สุดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยลดลงจาก 67.68 ในปี พ.ศ. 2556 เหลือ 51.68 ในปี พ.ศ. 2560 รองลงมาอันดับที่ 2 คือจังหวัดน่าน ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 และจังหวัดนราธิวาส ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 โดยล่าสุดเป็นจังหวัดตาก ในปี พ.ศ. 2560 ในขณะที่ ใน ปี พ.ศ. 2560 จังหวัดน่าน ไม่ได้ติดอันดับความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับแรกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 กรุงเทพมหานครกลับไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลน้อยเป็นอันดับ 1 ของประเทศเสมอไป ด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 41.38 38.97 37.15 34.61 และ 31.93 ตามลำดับ โดยเสียแชมป์ให้กับจังหวัดนนทบุรีด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 38.35 ในปี พ.ศ. 2557 และล่าสุดเสียแชมป์ให้จังหวัดภูเก็ตด้วยค่าดัชนีเท่ากับ 31.53 ในปี พ.ศ. 2560