กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
โรงงานน้ำตาล พร้อมร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สนับสนุนชาวไร่ตัดอ้อยสด หวังลดมลพิษแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาอ้อยได้อย่างยั่งยืน หลังปัญหาอ้อยไฟไหม้ในปัจจุบันยังรุนแรง ระบุฤดูหีบอ้อยปี 61/62 เจอพิษอ้อยไฟไหม้สูงกว่า 60% ของปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ตามที่ สอน. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน สำหรับปี 2563/64 รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน และปี 2564/65 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบที่ร้อยละ 0-5 ต่อวัน นั้น ภาคโรงงานน้ำตาลได้เตรียมการและพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย และแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยทั้งในด้านคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบ รวมถึงการก่อปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อม
แม้ว่า ภาคโรงงานน้ำตาลมีความกังวลว่า ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยตระหนักถึงผลกระทบจากการจัดเก็บอ้อยไฟไหม้เข้าหีบมาโดยตลอด รวมถึงดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จูงใจให้แก่ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดและมีมาตรการลงโทษอ้อยไฟไหม้ที่ชัดเจน ทั้งการหักเงินอ้อยไฟไหม้ การจัดคิวรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ทุเลาลงในระดับเป็นที่น่าพอใจ
โดยพบว่า ในรอบฤดูการผลิตปี 2561/62 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบลดลงเหลือ 80.03 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 61.11% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 130.97 ล้านตัน เทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 89.43 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 66.28% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบ 134.93 ล้านตันอ้อย แต่โดยภาพรวมแล้วยังถือว่า มีสัดส่วนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม TSMC เชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือและมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกันอย่างจริงจัง ก็จะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมนี้โดยรวมและช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามเจตนารมย์ที่ทุกฝ่ายตั้งไว้
รองประธานคณะกรรมการบริหาร TSMC กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังคงรุนแรงเนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บอ้อยสดสูงกว่าการเผาอ้อย เช่น ค่าแรงงานตัดอ้อยที่สูงแถมยังขาดแคลนหรือรถตัดอ้อยก็มีราคาสูงเกินไป แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะช่วยเหลือโดยการสนับสนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ แต่ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดในการให้สินเชื่อ ทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากชาวไร่มากนัก โดยชาวไร่ยังคงเลือกใช้แนวทางเผาอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ
"ที่ผ่านมา ชาวไร่ไม่อยากจะจัดส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ เพราะรู้ว่า จะทำให้คุณภาพผลผลิตอ้อยลดลงและยังโดนหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้แต่ก็ต้องทำ เพราะค่าใช้จ่ายจัดเก็บอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ แม้ที่ผ่านมาโรงงานช่วยเหลือชาวไร่จัดส่งอ้อยสด ทั้งเรื่องของการสนับสนุนรถตัดอ้อยหรือการรับซื้อใบอ้อย การบริหารจัดการคิวให้อ้อยสดเข้าหีบก่อนแล้วก็ตามแต่ปัญหายังไม่ลดลงเท่าที่ควร ซึ่งหากภาครัฐมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสด นอกเหนือมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวไร่ซื้อเครื่องมือเครื่องจักรตัดอ้อยโดยโรงงานค้ำประกันแล้ว ควรเปิดให้โรงงานเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยให้บริการแก่ชาวไร่ด้วย ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มปริมาณรถตัดอ้อยและลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยให้บรรลุได้ตามเป้าหมาย" นายสิริวุทธิ์กล่าว