กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เนื่องจากผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศมีนัยยะทั้งเชิงพื้นที่และมูลค่า แต่ประเทศไทยกำลังสูญเสียผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลโดยรวม หรือสูญเสียรายได้สุทธิ และการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่ขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพทำให้สภาวะการสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลสุทธิของไทยน่าเป็นห่วงมากขึ้น
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องจาก ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย คือ ผลประโยชน์ที่คนไทยทุกคนพึงได้รับจากทะเล หรือเกี่ยวเนื่องกับทะเลทั้งภายในและนอกน่านน้ำไทย รวมถึงพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล เกาะ พื้นดิน ท้องทะเล ใต้พื้นที่ท้องทะเล และอากาศเหนือท้องทะเล ครอบคลุมถึงกิจกรรมทางทะเลทุกด้าน ส่วนมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล คือ คุณค่าของผลประโยชน์จากทะเลในทุกมิติที่สามารถประเมินออกมาได้ทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ทั้งมูลค่าโดยตรง มูลค่าทางอ้อม และมูลค่าที่สงวนไว้ใช้ในอนาคต
ในทางกายภาพหากพิจารณาเชิงพื้นที่ ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของอาณาเขตทางบกที่มีอยู่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีความยาวทางชายฝั่งทะเลรวมฝั่งอ่าวไทย ทะเลอันดามัน และช่องแคบมะละกาตอนเหนือกว่า2,815 ตารางกิโลเมตรใน 23 จังหวัดและมีผู้ใช้ประโยชน์จากทะเลในทุกกลุ่ม ทุกระดับ และทุกพื้นที่ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากทะเลครอบคลุมทั้งทางด้านทรัพยากรมีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยมีกิจกรรมการใช้ทะเลที่หลากหลาย
แต่เมื่อประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลในปี พ.ศ.2557 จากข้อมูลของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พบว่า มูลค่าเศรษฐกิจภาคทะเลของไทยมีมูลค่ามหาศาล โดยมีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านบาท โดยในช่วงปี พ.ศ.2550-2558 มูลค่าของเศรษฐกิจภาคทะเลมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30 โดยประมาณของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต แต่ผลประโยชน์ทางทะเลดังกล่าวกลับไม่ได้ตกอยู่ในมือคนไทยในสัดส่วนที่ควรจะเป็น ยิ่งไปกว่านั้น เพราะผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากล บริเวณพื้นที่ (The Area) และเขตทางทะเลของประเทศอื่นทั่วโลกที่สามารถทำความตกลงกันเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาต่าง ๆ ทางทะเลที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตที่ยังคงรอการแก้ไข ที่กำลังเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยจะต้องหาแนวทางที่จะผลักดันให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากทะเลอย่างที่ควรจะเป็น และจะต้องมีกระบวนการหาคำตอบในประเด็นต่างๆทางทะเลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งจะที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศในระดับต่างๆ
จึงเป็นที่มาของ "การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย" ซึ่งเป็นโครงการคู่ขนานกับ"โครงการสถานการณ์และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุน
สนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ทางทะเลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อย (Policy brief) ต่อประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลของไทย
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ของผลประโยชน์ทางทะเลของไทย ถูกกำหนดจากแนวทางการขับเคลื่อนทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่งล้วนเป็นกรอบกำหนดทิศทางการพัฒนาผลประโยชน์ทางทะเลของไทย ทั้งเรื่องของกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลของไทยมี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ การขนส่งและพาณิชยนาวี การผลิตพลังงาน การท่องเที่ยว และการประมง โดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวและการขนส่งพาณิชยนาวี มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของกิจกรรมต่างๆทางทะเล ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งส่วนใหญ่ยังคงเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่น ปะการัง และสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงอย่างรุนแรงโดยเฉพาะปัญหาขยะทะเล
จากข้อมูลกิจกรรมการใช้ประโยชน์ และข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สรุปได้ว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มของกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของปริมาณ มูลค่า และรูปแบบ ขณะที่แนวโน้มของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นฐานสำคัญของกิจกรรมกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยให้อยู่ในสภาวะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะการสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลสุทธิในระดับที่น่าเป็นห่วง
"Marine economy หรือ Ocean economy คือ เศรษฐกิจที่เราได้จากทะเล แต่ทั้งหมดอยู่บนฐานของทรัพยากรที่อยู่ใต้ทะเลไม่ว่าจะเป็นปะการัง ดอกไม้ทะเล หรือสัตว์ทะเลหายาก รวมไปถึงป่าชายเลน เหล่านี้ถือเป็นต้นทุนที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจทางทะเล ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้มีการบริหารจัดการหรือมองภาพไม่ครบ มุ่งเน้นการพัฒนาที่จะได้มาซึ่งเศรษฐกิจหรือกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลต่างๆ เพียงอย่างเดียว (เปรียบเป็นภาพภูเขาน้ำแข็ง) แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล(เปรียบเป็นภาพใต้ภูเขาน้ำแข็ง)ก็จบ เพราะเราไม่รู้ว่าตอนนี้เราเสียปะการังปีหนึ่งไปกี่ตารางเมตร หรือกี่ตารางกิโลเมตร สูญเสียสัตว์ทะเลหายากหรือสัตว์สงวนอย่างพะยูนหรือเต่าไปเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการจัดการต้นทุนเหล่านี้ซึ่งมันเชื่อมโยงกันหมด นี่คือสถานการณ์ของไทยที่เปรียบเป็นภูเขาน้ำแข็งที่กำลังจะพังลงมา แต่วันนี้เรายังไม่มีแม้กระทั่งแผนและความตระหนัก " ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าว
สาเหตุที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเล ส่วนหนึ่งเกิดจากการแยกส่วนการบริหารจัดการระหว่างกิจกรรมการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขาดการวางแผนในการใช้ทรัพยากรทางทะเลและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเล ทำให้การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทยในภาพรวมขาดประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนด้านทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรม เช่น การท่องเที่ยวทางทะเล ควรลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรปะการังโดยตรง เพราะปะการังเป็นทรัพยากรทะเลที่เป็นฐานของกิจกรรมการท่องเที่ยวและ อื่นๆ อาทิ เป็นแหล่งอนุบาลของทรัพยากรประมง หากไม่ช่วยกันดูแลอาจส่งผลกระทบต่อทั้งกิจกรรมประมงและกิจกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ควรสนับสนุนกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับฐานทรัพยากร และสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการกำหนดเครื่องมือในการจัดการผลประโยชน์ทางทะเลทั้งระบบ เช่น การประเมินมูลค่าเศรษฐกิจภาคทะเล ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง , พรบ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 เป็นต้น ที่สำคัญควรมุ่งสนับสนุนให้เกิดการทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ หรือ สนับสนุนให้มีการป้องกันปัญหา ก่อนที่จะเกิดปัญหาการสูญเสีย
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลนั้น ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจน โดยโครงการนี้ได้ผลการศึกษาออกมาในรูปแบบของข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการเพื่อใหเผลประโยชน์ทางทะเลเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนไปพร้อมกัน หรือแบบไม่แยกส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาและเพิ่มผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศได้ในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ ( พ.ศ.2561-2580) โดยได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อย (Policy brief) ต่อประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลของไทย สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม รวมทั้งหมด 6 ประเด็น ได้แก่ กลุ่มที่1 ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลในภาพรวม ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1. การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีข้อค้นพบสำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในภาพรวม ทำให้ขาดความสามารถในการมองเห็นและการวางแผนกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลบนฐานทรัพยากรอย่างเป็นองค์รวม จึงมีข้อเสนอให้มีการจัดทำแผนที่ที่แสดงกิจกรรมและทรัพยการในปัจจุบันที่อยู่บนแผ่นที่เดียวกัน การวางแผนพื้นที่กิจกรรมการใช้ประโยชน์ และกรมีระบบสนับสนุนการตัดสินใจในวางแผน เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ประเด็นที่ 2.พื้นที่คุ้มครองทางทะเลกับการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีการทับซ้อนกันของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เนื่องจากการขาดข้อมูลและแผนที่แสดงข้อมูลเชิงบูรณาการ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และจะต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ ประเด็นที่ 3.การบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาปะการังเสื่อมโทรมของประเทศไทย โดยการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง เพื่อให้ระบบนิเวศปะการังกลับคืนทั้งระบบในระยะยาวส จึงควรมีมาตรการควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ และการกำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ประเด็นที่ 4.สถานการณ์ขยะทะเลแนวทางการป้องกันและแก้ไขสำหรับประเทศไทย พบว่า ขยะถือเป็นวัตถุดิบ จึงเสนอแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นเงิน และจัดการขยะทั้งแต่บนบก หรือการทำให้วัตถุดิบเหลือใช้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตอื่นๆ ประเด็นที่ 5.แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นำไปสู่การสูญเสียระบบนิเวศหาดด ดังนั้น การรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศปะการังและระบบนิเวศป่าชายเลนจะต้องเชื่อมโยงกับระบบนิเวศหาด เป็นต้น
และกลุ่มที่3 ทิศทางการบริหารจัการเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ได้แก่ ประเด็นที่ 6.ทางเลือกในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมในทะเล พบว่า การวางแผนเพื่อรองรับการื้อถอนสิ่งติดตั้งควรจะเป็นแผนการในระยะยาวเพื่อรองรับสิ่งติดตั้งทุกประเภอ และก่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยเสนอให้มีการพัฒนาระบบการรื้อถอนทั้งระบบ เช่น ด้านอุตสาหกรรม และด้านบุคลากรเพื่อรับมือกับวิธีการรื้อถอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับข้อเสนอแนะทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าว ได้ถูกนำเสนอในที่ประชุมระดับนโยบายของคณะกรรมการต่างๆ ล่าสุดได้มีการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายบางส่วนจากประเด็นการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลสำหรับประเทศไทยและประเด็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลฯ เข้าสู่ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์และกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งได้ผ่านมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ข้อเสนอแนะดังกล่าวยังได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ที่ 5 ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น