กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน องค์กร Centre for Humanitarian Dialogue (hd) สถาบัน Change Fusion ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #2 เรื่อง "แพลทฟอร์มสื่อดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์"
ศ.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน กล่าวว่า การตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลฯนี้ เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจด้านมืดของโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะประเทศหนึ่งประเทศใด ดังนั้นการเท่าทันของผู้รับข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องมีการการกำกับดูแลทีดีในเชิงนโยบาย
"ข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) มีอยู่มากและกระจายอย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรการกำกับแต่ปัญหาคือ คน "ไม่ไว้วางใจ" หน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลว่าตัดสินใจด้วยฐานความคิดว่าเพื่อประโยชน์ความมั่นคงและมั่งคั่งของใคร จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันติดตามและตรวจสอบการทำงานของหน่วยกำกับฯเหล่านี้ด้วย"
ศ.อุกฤษฎ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจะส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะแต่ละประเทศล้วนมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน
ในการเสวนาเรื่อง "บทบาทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ในการรับมือข่าวลวง บทเรียนจากสากลสู่สังคมไทย" ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีคนเข้าไปใช้แพลทฟอร์ม นั้น ๆ เพิ่มขึ้นเจ้าของพื้นที่ก็จะขยายประเภทธุรกิจไปมากกว่าการเป็นพื้นที่สื่อสาร คนใช้สื่อออนไลน์มีทั้งแบบที่เป็นข้อมูลการสนทนาส่วนตัวเฉพาะกลุ่มและเปิดเผยต่อสาธารณะหรือติดตามข่าวสารและความบันเทิง ข่าวลวงหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและต้องมีการกำกับดูแล
"อยากจะใช้คำว่า information disorder มากกว่า fake news เพราะข่าวนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง ผิดไม่ได้อยู่แล้ว ข้อมูลลวงเหล่านี้มีหลายระดับ ส่วนที่จะเป็นปัญหามากคือ ข้อมูลที่จะทำให้เกิดอันตราย(harmful) งานวิจัยพบว่า ข้อมูลลวงนั้นมักจะมาจากแหล่งข้อมูลหรือเวปไซต์เล็ก ๆ ที่คนไม่รู้จักมากนัก ไม่ได้เป็นสื่อกระแสหลัก จึงเกิดคำถามในเชิงการบริหารจัดการว่าจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนในการจัดการข้อมูลเหล่านี้ ต่างประเทศจะเลือกจัดการข้อมูลที่เสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมก่อน"
ดร.พิจิตรากล่าวเพิ่มเติมว่า แพลทฟอร์มใหญ่ระดับนานาชาติ มีเครื่องมือเพื่อดำเนินการกับข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว อาทิ Facebook มี FB fact checking program ,community standard policy และเครื่องมือเพื่อสืบค้นจัดการกับข่าวลวง เอาออกจากพื้นที่ ลดความถี่การมองเห็นและการแจ้งเตือน Google มี Google news Initiative หรือ LINE มี digital literacy program, หรือไลน์ในไต้หวันมี Co-fact checking ส่วนในสหภาพยุโรป มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลโดยเฉพาะโฆษณา ต้องแสดงความโปร่งใสว่าใครอยู่เบื้องหลังเนื้อหา ใครเป็นคนจ่ายเงินโปรโมทข้อมูล แต่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลข่าวลวงนี้อย่างจริงจัง สิ่งที่ต้องทำให้เกิดคือให้ประชาชนมีความเข้มแข็งและเท่าทันข่าวสาร รวมทั้งต้องส่งเสริมงานศึกษาวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย
ด้านสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า ข่าวลวงคือไวรัสทางสังคมที่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการระบาดทางความคิด ในสหรัฐและอังกฤษมีงานวิจัยพบว่า ข่าวลวงนี้ แพร่กระจายได้ลึก กว้างและเร็วกว่าข่าวปกติ ซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานของผู้รับข่าวสารลดต่ำลง มีแนวโน้มจะเชื่อข้อมูลที่ได้รับง่ายโดยไม่ตรวจสอบ แม้จะมีเครื่องมือ fact checking แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น หลายครั้งที่ส่งรายงานปัญหาแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองกลับมา ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาด้วย
"เคยมีงานวิจัยพบว่าคนที่เคยได้รับข้อมูลลวง แม้จะมีข่าวสารที่ถูกต้องมายืนยันอีกครั้งแต่ก็มีแนวโน้มที่อาจลังเลหรือไม่เชื่อข้อมูลจริง ดังนั้นหากคนที่ได้รับข่าวสารใช้เวลาชะลอช้าลงก่อนกดแชร์ส่งต่อ แม้แค่ครึ่งนาทีก็จะมีผลอย่างมากเพื่อให้คิดได้รอบด้านขึ้น ข่าวลวงนั้นมีวงจรชีวิตสั้นยาว ต่างกัน ในต่างประเทศมเครื่องมือหลายแบบที่จะช่วยกรองได้ เช่น chat bot ในไต้หวัน การมีเครือข่ายFact checking หรือใช้เกมเพื่อให้เด็กในโรงเรียนได้เล่น เป็นต้น ในเมื่อข่าวลวงเป็นไวรัส ทางแก้ก็ต้องเอาคนในสังคมมาช่วยป้องกัน กลั่นกรอง
และทำให้เกิดการเท่าทัน ทั้งผู้บริโภคและภาครัฐต้องร่วมมือกัน ประเด็นสำคัญคือ จะเชื่อใจหน่วยงานที่ทำหน้าที่ check fact อย่างไรว่าจะไม่ถูกแอบอ้างหรือโฆษณาชวนเชื่อ"
ด้านเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ตั้งข้อสังเกตการนิยามและให้ความหมายของข้อมูลที่เป็นอันตราย (harmful) อย่างไร ในมิติใด เพราะเนื้อหาที่อันตรายและมีความรุนแรงไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืนแต่ใช้เวลาฝังรากลึกจนเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ความเชื่อ เช่น อคติต่อแรงงานข้ามชาติ การดูถูกชนกลุ่มน้อย ดังนั้น นอกจากจะเท่าทันข่าวสาร เท่าทันเทคโนโลยีแล้วยังต้องระวังเรื่องอคติและต้องเท่าทันตัวเองด้วย
" หลายครั้งเมื่อเห็นข้อมูลแล้วจะมีอารมณ์นำมาก่อนการใช้เหตุผลหรือคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ด้วย (แม้เรารู้ว่าเป็นข่าวไม่จริง แต่เจ้านายหรือญาติส่งมาให้ ก็ต้องไลค์และแชร์) มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีความสัมพันธ์ในกลุ่ม ต้องแสดงออกเพื่อให้ตัวเองไม่ถูกกีดกันออก หรือเป็นมารยาท เป็นต้น"
อาจารย์มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งของมาตรการที่เจ้าของแพลทฟอร์มต้องการใช้เครื่องมือเพื่อจัดการข่าวลวง ในขณะที่ขั้นตอนแรกเพื่อให้มีบัญชีในแพลทฟอร์มเหล่านั้นกลับไม่ได้ใช้การตรวจสอบที่เข้มข้นแต่แรก
"หลักการคือ กว่าจะมี account สักอัน ก็ต้องการแค่ชื่อ อีเมล ของผู้ใช้ ไม่ได้ต้องการข้อมูลอื่นมากกว่านั้น ทำให้มี account ได้ง่ายๆ เพราะต้องการให้มียอดสมาชิกและผู้ใช้มากๆ กว้างขวาง เลยไม่แน่ใจว่าเจ้าของแพลตฟอร์มต้องการจัดการข่าวลวงจริงหรือไม่"
อย่างไรก็ตาม อาจารย์มุกดา เห็นว่า ในด้านหนึ่งข้อดีของข่าวลวง คือทำให้ข่าวจริงและบทบาทของสื่อมวลชนมีตัวตนและมีศักดิ์ศรีเพิ่มมากขึ้น
ส่วนธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม กล่าวว่าข่าวลวงมีปัญหาหลายมิติ ทั้งในด้านช่องว่างของความรู้ การใช้ภาษา ปัญหาเชิงวัฒนธรรมด้วย และการศึกษาพฤติกรรมของคนในสังคมออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทำให้การตรวจสอบและจัดการข่าวลวงยากขึ้นตามไปด้วย
"คนต่างจังหวัด แม้จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตยังยาก บางพื้นที่ต้องให้พ่อหลวงใช้อินเตอร์เนตที่อบต. เพื่อรับข่าวสารแล้วทำหน้าที่กระจายข่าวต่อ เมื่อการเข้าถึงยากแล้วก็ไม่ต้องพูดเรื่องการทำให้คนเท่าทันหรือไปจัดการข่าวลวง โดยเฉพาะคนกลุ่มชายขอบ คนกลุ่มน้อยต่าง ๆ คนไร้สิทธิไร้เสียง ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนกันและเท่าทันได้ การมีพื้นที่กลางก็จะทำให้เห็นความแตกต่างหลากหลายด้วย"
ส่วนสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน เห็นว่าความท้าทายคือการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดดุลระหว่างการป้องกันสิทธิส่วนบุคคลและประโยชน์ของผู้บริโภคส่วนรวม ทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบที่ดี มีประสิทธิภาพ
"เจ้าของแพลตฟอร์มหลักใหญ่ๆ ในประเทศไทยไทยยังไม่มีการรวมตัวเพื่อวางมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน จริงจัง ดังนั้น อาจต้องใช้พลังทางสังคมเพื่อกดดันให้องค์กรเหล่านี้ได้แสดงความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมกำกับดูแล ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคด้วย"
ในเวทีที่ 2 เป็นการเสวนาเรื่อง "สังคมควรใช้เทคโนโลยีสู้กับข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดยุคดิจิทัลอย่างไร" มีตัวแทนสื่อมวลชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
สุชัย เจริญมุขยนันท มูลนิธิสื่อสร้างสุข ทีวีชุมชนอุบลราชธานี ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลในสังคมออนไลน์ คือข้อมูลที่มีความเสี่ยงจะเป็นเรื่องหลอกลวงได้ง่าย เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะไม่โพสต์หรือแสดงความเห็นทุกอย่างจริงๆ ลงไปและเทคโนโลยีทำให้การตัดต่อเป็นเรื่องง่ายมาก จึงเชื่อได้ยาก ตรวจสอบยาก
คนต่างจังหวัด ก็มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะคิดว่ารัฐบาลจะต้องดูแล ไม่ปล่อยให้เกิดข่าวลวงขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น จึงเห็นความจำเป็นต้องมีหน่วยงานตรวจสอบข่าวลวงดังกล่าว
เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต เห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่าคนปัจจุบันมีความเสี่ยงจะเชื่อข่าวสารข้อมูลที่ถูกแชร์กันได้ง่ายโดยขาดการตรวจสอบอย่างรอบด้านและไม่รัดกุมเพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพและความงาม ดังนั้นสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญที่จะกระจายข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับรู้ สำหรับต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ก็มีบทบาทสำคัญในชุมชน ดังนั้นหากได้ฝึกทักษะการสื่อสารและการใช้สื่อได้ก็น่าจะช่วยส่งข่าวสารให้คนทั่วไปได้ทั่วถึง
สถาพร อารักษ์วทนะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากว่า มีคนถูกหลอกลวงจากข่าวลวง เกือบ 45% เป็นข่าวสารด้านสุขภาพ แต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากการซื้อยาลดความอ้วนออนไลน์มากิน มีการขายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานและผิดกฎหมายอย.จำนวนมากออนไลน์จนถึงปัจจุบันนี้โดยหน่วยงานรัฐยังไม่ได้เข้าไปจัดการ
นอกจากสื่อออนไลน์ ก็ปรากฏในสื่อกระแสหลักเป็นข้อความโฆษณาแฝงด้วย เนื้อหามีทั้งการเชื่อมโยงแบบผิดๆ การให้ข้อมูลปลอมบางส่วน หรือปลอมทั้งหมดเพื่อหลอกขายของไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก่อนลำดับแรกๆ คือกองบก.สื่อออนไลน์ควรต้องมีเครื่องมือ หรือสร้างมาตรการจัดการข่าวลวงได้ทันที ไม่ต้องรอภาครัฐสั่งการ เมื่อพบแล้วต้องไม่ให้ปรากฏบนออนไลน์หรือในแพลทฟอร์มของตนเองอีก จึงจะได้ผล
วิชาญ อุ่นอก สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เห็นว่า ประเด็นที่เป็นข่าวลวง ถูกบิดเบือนมากในสื่อต่างจังหวัดคือข่าวสารในกลุ่มสุขภาพ การเมือง (คนเลือกจะเชื่อในข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อตัวเอง) และศาสนา ปัญหาสำคัญขณะนี้คือไม่มีแหล่งจะตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสารที่ได้รับ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ดังนั้นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยจัดการข่าวลวงคือต้องมีปฏิบัติการทำจริงในพื้นที่ สร้างเครือข่ายในสังคมในต่างจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง และควรเชื่อมโยงไปถึงสถาบันการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถม ควรต้องมีหลักสูตรเพื่อสร้างการเท่าทันในมิติต่าง ๆ
วงเสวนาเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเพื่อจัดการข่าวลวง ข่าวปลอม ด้านมืดของสื่อออนไลน์ ซึ่งเจ้าของแพลทฟอล์มเหล่านี้ยังไม่มีการกำกับที่เข้มงวดจริงจังเหมือนในต่างประเทศ จึงเห็นความสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดกลไกดังกล่าว อีกทั้งจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เท่าทันและช่วยกันเฝ้าระวัง
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในองค์กรร่วมจัดงานครั้งนี้กล่าวว่า ปัญหาสื่อปัจจุบันคือ การจัดการกับ "ข่าวลวง" กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง หลังจากที่ สสส.ได้มีความร่วมมือกับ 8 องค์กรสื่อ วิชาการและภาคสังคม เพื่อหาวิธีรับมือ และยังได้จัดเสวนาเพื่อเรียนรู้จากกรณีศึกษาของต่างประเทศอาทิไต้หวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบกลไกและเครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย