กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เสียงของประชาชนเรื่องคุณธรรม กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,224 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 1 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อระดับของคุณธรรมในสังคมไทย พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.0 ระบุสังคมไทยมีคุณธรรมระดับปานกลาง รองลงมาคือร้อยละ 39.2 ระบุมีคุณธรรมน้อย ถึง น้อยที่สุด และร้อยละ 8.8 มีมากถึงมากที่สุด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความคิดเห็นต่อระดับคุณธรรมของอนาคตสังคมไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุจะลดลง ในขณะที่ร้อยละ 32.1 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 8.8 ระบุมากขึ้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึง สาเหตุของปัญหาขาดคุณธรรมในสังคมไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.7 ระบุ คนในสังคมไม่มีวินัย รองลงมาคือร้อยละ 57.9 ระบุ การคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง (เห็นแก่ตัวและพวกพ้อง) ร้อยละ 51.1 ระบุ ขาดความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 45.6 ระบุ การไม่รู้จักพอเพียง ร้อยละ 35.8 ระบุ การที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 32.0 ระบุ คนส่วนใหญ่ขาดความรับผิดชอบ และร้อยละ 31.3 ระบุ คนไทยขาดความสามัคคี เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นคุณธรรมที่รัฐบาลควรส่งเสริม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ระบุการมีจิตสำนึกที่ดี รองลงมาคือ ร้อยละ 57.0 ระบุ การมีวินัย ร้อยละ 54.5 ระบุคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ร้อยละ 53.6 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 39.9 ระบุความมีน้ำใจดีต่อกันและกัน ร้อยละ 36.6 ระบุความพอเพียง และร้อยละ 30.1 ระบุการคิดไตร่ตรอง มีสติ
รศ.นพ.สุริยเดวฯ ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า สังคมไทยขณะนี้กำลังหนักหนาสาหัสด้านคุณธรรม เพราะเห็นได้วจาก การใช้ความรุนแรงทำร้ายกันรายวันไม่เลือกเพศ อายุ คนป่วย คนพิการ ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน โรงพยาบาล โรงเรียน ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน นอกจากนี้ อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ยาเสพติดรุนแรงบานปลายและการศึกษาที่มุ่งเน้นท่องจำมากกว่าพัฒนาเด็กให้เป็น "มนุษย์ที่สมบูรณ์" โดยการพัฒนาเด็กให้มุ่งเน้นทั้งขีดความสามารถตามความถนัด (Competency) และคุณธรรม (Moral)จึงจะเรียกว่าพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ กลไกด้านคุณธรรมกำลังอ่อนแอ ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม เสียงของประชาชนที่พบในโพลครั้งนี้เรียกร้องแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ให้หันมาพัฒนาสังคมคุณธรรมเพื่อสังคมสันติสุขให้มากขึ้น เป็นแบบอย่างที่ดีด้านความซื่อสัตย์สุจริต ประหยัด มีวินัย ประพฤติตามกฎกติกา ใช้สติมากกว่าอารมณ์ มีน้ำใจช่วยเหลือกัน และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของคนทั้งประเทศ
"โดยเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่ ทุกคน ทำดีให้เด็กดู แล้วท่านจะรู้ว่าเด็กเปลี่ยนได้ ตามท่าน ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องไม่โยนภาระนี้เพียงเพื่อใช้คำสวยหรูว่า ให้ปลูกฝังจิตสำนึกในเด็กตั้งแต่ปฐมวัย แต่วิธีที่จะปลูกฝังจิตสำนึกได้ดีที่สุดคือ วิธีที่ผู้ใหญ่ทำให้เด็กดูและเรียนรู้จากผู้ใหญ่จนซึมซับ ไม่มุ่งเน้นสร้างภาพแต่ทำอย่างต่อเนื่อง หากท่านเริ่มที่ท่าน ท่านก็มีความสุข เริ่มที่บ้าน บ้านก็มีความสุข เริ่มที่ทำงาน ที่ทำงานก็มีความสุข จนเกิดภาพที่ใหญ่ขึ้นชุมชนสังคม" ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าว
ในขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.นพดล กรรณิกา กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจชี้ชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีและน่าจะหมายรวมถึง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีเพราะเป็นคณะผู้บริหารประเทศและออกหน้าสื่อบ่อย ๆ รวมถึงการมีอำนาจรัฐอยู่ในมือจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่น่าจะออกมารณรงค์ความมีวินัยของคนในชาติ ความซื่อสัตย์สุจริต และการคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติและของประชาชนทั้งประเทศมากกว่าตัวเองและพวกพ้องและอีกสองสามวันนี้สำนักวิจัยซูเปอร์โพลจะออกผลสำรวจว่า จุดตั้งต้นของความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อยู่ที่ระดับใดเพื่อเป็นคะแนนพื้นฐาน (Baseline) เอาไว้เปรียบเทียบเมื่อทำงานไปได้อีก 6 เดือนข้างหน้าจะประเมินซ้ำและดูว่า ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและคุณธรรมของคณะรัฐมนตรีจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรใน "เสียงของประชาชน"