กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
ความแปรปรวนในระบบทางเดินอาหารและความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งท้อง ซึ่งสาเหตุหรือโรคที่พบบ่อย ได้แก่
- กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด และพฤติกรรมการกิน เช่น ทานอาหารไม่ตรงเวลา จึงทำให้มีอาการปวดท้อง จุก ที่แถบเหนือสะดือค่อนไปด้านซ้าย รวมถึงมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน และอาหารไม่ย่อย
- กรดไหลย้อน การที่กรดในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร จึงทำให้มีอาการปวดเกร็งท้อง จุกแน่นลิ้นปี่ ร่วมกับมีอาการแสบระคายเคืองช่วงอกและลำคอ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน
- ลำไส้อักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ที่ปนเปื้อนในอาหาร ทำให้มีอาการปวดเกร็งท้องหรือปวดบิดอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการท้องร่วง ถ่ายเหลว บางครั้งอาจคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย
- ไส้ติ่งอักเสบ มักทำให้เกิดอาการปวดเกร็งตรงกลางท้อง หรือด้านล่างขวาใต้สะดือ รวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และหากไม่ได้รับการรักษา อาการปวดท้องจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
- ตับอักเสบ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส การดื่มแอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบจะทำให้เกิดอาการปวดเสียดท้องรุนแรงบริเวณด้านขวาบน และอาจปวดร้าวจนถึงหลังหรือใต้สะบัก รวมถึงมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย และอ่อนเพลีย
- นิ่วในถุงน้ำดี หากนิ่วมีขนาดเล็กมักไม่แสดงอาการ แต่หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ มักทำให้เกิดอาการปวดท้องด้านขวาบนอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการตัวเหลืองตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน
นอกจากนั้นหากปวดในบริเวณท้องน้อย อาจเกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือภาวะมดลูก ปีกมดลูกอักเสบในสุภาพสตรีได้ จะเห็นได้ว่าอาการปวดเกร็งท้องเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่รุนแรงและที่รุนแรง ที่อาจเป็นอันตรายได้ หากไม่รีบทำการรักษา ดังนั้นเมื่อมีอาการควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจะได้รู้ว่าอาการปวดเกร็งท้องที่เราเป็นนั้นเกิดจากสาเหตุหรือโรคอะไรกันแน่ครับ