กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงทิศทางราคาไข่ไก่ว่า จากผลผลิตไข่ไก่ที่เกินความต้องการบริโภคในปี 2561 และภาครัฐได้ดำเนินการมาตรการปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ปรับลดการนำเข้า พ่อ-แม่ ปู่-ย่าพันธุ์ และส่งออกไข่ไก่ส่วนเกินไปจำหน่ายยังต่างประเทศ พร้อมทั้งปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงเพื่อให้ปริมาณไก่ไข่ยืนกรงในระบบอยู่ในภาวะสมดุล ส่งผลให้สถานการณ์ราคาไข่ไก่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นสูงกว่าต้นทุนการผลิต โดยราคาไข่ไก่คละปรับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ราคาเฉลี่ยฟองละ 2.64 เดือนพฤษภาคม ราคาฟองละ 2.74 บาท และ มิถุนายน ราคาฟองละ 2.80 บาท และสัปดาห์แรกเดือนกรกฎาคม 2562 เฉลี่ยที่ฟองละ 2.83 บาท ทั้งนี้ ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ (รวมต้นทุนทั้งที่เป็นเงินสดและต้นทุนที่ไม่เป็นเงินสด) เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.62 บาท
สำหรับผลผลิตปี 2562 กรมปศุสัตว์คาดว่า จะมีปริมาณผลผลิตไข่ไก่ 14,810 ล้านฟอง ลดลงจากปี 2561 ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ด้วยการปรับสมดุลการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการในการบริโภคภายในประเทศ โดยมีมติให้ปรับลดแผนการนำเข้าในปี 2562 ของปู่-ย่าพันธุ์ (G.P.) ให้เหลือจำนวน 3,800 ตัว และปรับลดการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ (P.S.) เหลือจำนวน 460,000 ตัว พร้อมลดจำนวนแม่ไก่ไข่ยืนกรงให้อยู่ประมาณ 50 ล้านตัวต่อวัน หรือประมาณ 40 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงอายุไม่เกิน 78 สัปดาห์ เพื่อรักษาสมดุลผลผลิตในระบบ และเร่งรณรงค์เพิ่มการบริโภคไข่ไก่ให้ได้ตามเป้าหมาย 300 ฟอง/คน/ปี
นอกจากนี้ ยังผลักดันการส่งออกไข่ไก่เพื่อลดปริมาณผลผลิตส่วนเกิน โดยในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2562 สามารถรวบรวมไข่ไก่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ปริมาณ 167.65 ล้านฟอง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 65.64
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะยังคงดำเนินมาตรการต่อเนื่องเพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพโดยแนวโน้มราคาอาจจะขยับขึ้นได้อีก หากสามารถบริหารจัดการปริมาณนำเข้า พ่อ-แม่ ปู่-ย่าพันธุ์ ให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ผู้เลี้ยงควบคุมปริมาณการเลี้ยงให้เหมาะสม ปลดไก่ตามอายุที่กำหนด ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเพิ่มอัตราการบริโภคไข่ไก่ให้สูงขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ผลิตเชื่อมโยงกับผู้ซื้อโดยตรง โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการบริโภคมีความสมดุล ก็จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาราคาผลผลิตไข่ไก่ตกต่ำอีก ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายตลอดห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจไก่ไข่อย่างยั่งยืนตลอดไป