กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมประมง และสมาคมฯ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมธิการโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission : CAC) ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม 2562 เพื่อรับรองร่างมาตรฐานระหว่างประเทศและประกาศใช้มาตรฐาน ณ กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์
ดร.จูอะดี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการพิจารณาร่างมาตรฐานในกลุ่มสินค้า เช่น เครื่องเทศ สมุนไพร น้ำมันพืช และข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารด้านสุขลักษณะอาหาร วัตถุเจือปนอาหาร สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน วิธีวิเคราะห์ ฉลากอาหาร โภชนาการ ระบบการรับรองและตรวจสอบอาหารนำเข้า/ส่งออก รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมา Codex ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันพืชซึ่งครอบคลุมน้ำมันพืชหลายๆ ชนิด รวมถึงน้ำมันรำข้าว ตั้งแต่ปี 1999 และถึงปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมมาตรฐานน้ำมันพืชชนิดต่างๆ อีกหลายครั้ง
น้ำมันรำข้าว เป็นน้ำมันพืชชนิดที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในการปรุงอาหารเอเชีย อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นสารสำคัญจากธรรมชาติ ปัจจุบันผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพยุคใหม่ยังให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อน้ำมันรำข้าว เนื่องจากน้ำมันรำข้าว อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ คือ แกมม่า-โอรีชานอล ซึ่งจะพบได้เฉพาะในน้ำมันจากข้าวเท่านั้น ในปี 2560 ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากอินเดียและจีน แต่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากอินเดียและจีน ส่วนใหญ่ยังใช้อยู่ภายในประเทศ โดยตลาดส่งออกหลัก คือ กลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
"อย่างไรก็ดี การพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ยั่งยืนได้ คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกให้กับข้าวไทย ซึ่งน้ำมันรำข้าว ก็นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี" เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ ครั้งที่ 42 ได้เห็นชอบและรับรองการ เพิ่มข้อกำหนดกรดไขมันอิสระในน้ำมันรำข้าวไม่เกินร้อยละ 0.3 (as oleic acid) จากเดิมที่กำหนดเฉพาะค่าความเป็นกรด ตามข้อเสนอของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ข้อกำหนดกรดไขมันอิสระในทางการค้า และข้อเสนอวิธีทดสอบเป็นวิธีที่ใช้กันในอุตสาหกรรม ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวยังคงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และเกิดความเป็นธรรมทางการค้า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองร่างมาตรฐานน้ำมันพืชชนิดใหม่ เช่น น้ำมันอัลมอนด์ รวมถึงร่างมาตรฐานเกี่ยวกับวัตถุเจือปนอาหารในอาหารหลายชนิดด้วย