กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วม TIFFA เทรน ป.ตรีว่างงานป้อนโลจิสติกส์ ปีละ 300 คน เน้น 2 สาขาหลัก ทั้งธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ และการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ การันตีฝึกจบรับเข้าทำงานทันที
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อผลิตแรงงานคุณภาพ ป้อนอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความต้องการกำลังคนในสาขานี้เป็นจำนวนมาก และมุ่งแก้ปัญหาการว่างงานของผู้ที่จบปริญาตรี เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วย ซึ่งโครงการจะมีคัดเลือกผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาที่ว่างงานด้วยการทดสอบภาคความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโลจิสติกส์และด้านภาษาอังกฤษเข้ารับการฝึกอบรม พร้อมบรรจุเข้าทำงานเมื่อผ่านการฝึกอบรมในตำแหน่งงาน เช่น พนักงานดูแลลูกค้า พนักงานด้านการจัดการ พนักงานด้านการตลาด พนักงานต้อนรับ พนักงานคลังสินค้า เป็นต้น ที่ผ่านมาได้ทำงานจำนวน 206 คน มีรายได้เฉลี่ย 18,150 บาท/คน/เดือน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 44 ล้านบาท
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ปี 2562 มีผู้ให้ความสนใจเข้ารับการทดสอบเป็นจำนวนมาก แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 305 คน แบ่งเป็นเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ (ระยะเวลาการฝึกอบรม 480 ชั่วโมง) จำนวน 203 คน เน้นกลุ่มเป้าหมายที่พึ่งจบการศึกษา อายุไม่เกิน 28 ปี อีกจำนวน 102 คน ฝึกอบรมหลักสูตรการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ (ระยะเวลาการฝึกอบรม 60 ชั่วโมง) เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีประสบการณ์และทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาต่อยอดการเป็นหัวหน้างาน
ด้านนายสง่า วงษ์ศาพาน ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ผ่านการอบรมจะเข้าไปฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบกิจการเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อฝึกภาคปฏิบัติในตำแหน่งงานที่สถานประกอบกิจการเตรียมรับเข้าทำงาน เมื่อฝึกจบจะมีงานรองรับทันที
"จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง มีส่วนในการช่วยเหลือทุกภาคส่วน อาทิ สถานประกอบกิจการได้แรงงานที่มีศักยภาพตรงกับงาน สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและบริการ ส่วนแรงงานมีงานทำ มีรายได้ มีอาชีพมั่นคง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ และการพัฒนาประเทศ" อธิบดีกพร. กล่าว