กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กรมวิชาการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร พัฒนาแบคทีเรียผลิตเป็นสารชีวภัณฑ์ Bs กำจัดโรคกุ้งแห้งพริกสำเร็จ ชี้เป็นโรคร้ายทำผลผลิตเสียหายกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ พบระบาดพริกแทบทุกชนิดและทุกพื้นที่ปลูก สร้างความสูญเสียกว่า 100 ล้านบาท/ปี ขยายผลการทดลองสู่แปลงเกษตรกรพบลดการระบาดของโรค พร้อมให้ผลผลิตและรายได้เพิ่ม ไม่มีปัญหาสารตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โรคแอนแทรคโนสหรือโรคกุ้งแห้งพริก เป็นโรคที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ที่ทำความเสียหายให้แก่พริกเกือบทุกชนิดและในแหล่งปลูกพริกทุกพื้นที่ หากมีการระบาดของโรครุนแรงจะทำให้ผลผลิตพริกลดลงมากกว่า 50% ความเสียหายไม่น้อยกว่า 15,000 บาท/ไร่ ทำความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท / ปี เกษตรกรจึงมีการใช้สารเคมีในปริมาณสูง ก่อให้เกิดผลเสียโดยตรงต่อผู้ใช้และผู้บริโภค เกิดสารตกค้างในผลผลิต และการปนเปื้อนของสารเคมีในสภาพแวดล้อม ส่งผลถึงการกีดกันทางการค้า รวมทั้งทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก
การควบคุมโรคพืชโดยใช้สารชีวภัณฑ์ที่ผลิตจากจุลินทรีย์ เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่จะช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มผลผลิตและรายได้ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบคทีเรียกลุ่ม Bacillus ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดินปลูก ปุ๋ยคอก วัสดุปลูก รากพืช และผิวใบ ที่มีความปลอดภัยสูง และเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย นำมาใช้ในการควบคุมโรคพืชโดยผลิตเป็นชีวภัณฑ์ Bsเพื่อนำไปใช้ควบคุมโรคกุ้งแห้งพริกในระดับแปลงปลูก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการนำผลงานวิจัยไปขยายผลในแปลงเกษตรกรในพื้นที่มีการระบาดของโรคกุ้งแห้งรุนแรงและมักพบโรคระบาดสม่ำเสมอทุกฤดูปลูก โดยแนะนำให้เกษตรกรพ่นสารชีวภัณฑ์ Bs ตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ โดยพ่นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อกล้าเริ่มตั้งตัวหลังการย้ายปลูก พ่นครั้งที่ 2 เมื่อพริกเริ่มออกดอก หลังจากนั้นพ่นทุก 5-7 วัน ในอัตรา 40-50 กรัม/หรือเพิ่มถึง 70 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในแปลงที่พบการระบาดรุนแรงจะทำให้ลดการระบาดของโรค และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากแปลงเปรียบเทียบผลผลิตพบว่าแปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์ Bs ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 1,555 กิโลกรัม จากพื้นที่ 1.5 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 68,044 บาท โดยต้นทุนการใช้สารชีวภัณฑ์ Bs เฉลี่ย 250-300 บาท/ไร่
ปัจจุบัน ได้มีการขยายผลงานวิจัยโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ Bs ไปยังหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร เพื่อผลิตเป็นชีวภัณฑ์มอบให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตพืชอินทรีย์หรือพืชปลอดภัย ตลอดจนเกษตรแปลงใหญ่ โดยเกษตรกรสามารถนำชีวภัณฑ์ Bs ไปใช้ในการผลิตพริกในแปลงพริกอินทรีย์ หรือแปลงเกษตรปลอดภัยได้ เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นลดการใช้เคมีทางการเกษตร ซึ่งช่วยลดสารตกค้างทั้งในผลิตผลและสภาพแวดล้อม เกิดความปลอดภัยต่อเกษตรผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม และผลผลิตที่ได้จะมีราคาสูงกว่าผลผลิตที่ใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดี รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาการกีดกันทางการค้าในการส่งออกผลผลิตพริก โดยกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ Bs ให้ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป