กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในนโยบายความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้บูรณาการประสานการจัดการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงการศึกษาในทุกมิติ โดยในระยะที่ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือข้อตกลงในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา และในเดือนมิถุนายน ได้สร้างการรับรู้ เพื่อเชื่อมโยงสะพานการศึกษาถึงพื้นที่ในระดับจังหวัด คืออาชีวศึกษาจังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษา ของทั้ง 2 หน่วยงาน ในแนวทางที่จะผลักดัน และสร้างสะพานต่อ 5 สาย โดยการผลักดันการเรียนอาชีวศึกษาเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน เชื่อมฝ่ายบริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อเพิ่ม ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพผู้เรียน เพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ของประเทศ
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือระหว่าง สอศ. และสพฐ. เป็นนโยบายที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มปริมาณผู้เรียน นอกจากแนวทางในการผลักดันในการสร้างความรู้พื้นฐานด้านวิชาชีพให้ รวมถึงการจัดหลักสูตรระยะสั้น ให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นให้ได้ค้นพบตนเอง ค้นพบความชอบ หรือความรู้สนใจในทักษะวิชาชีพด้านใด และเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ก็จะเชื่อมต่อในส่วนระยะที่ 2 ของสะพานเชื่อมโยง สอศ. – สพฐ. ซึ่ง สอศ. จะวางสะพานให้เห็นถึงโอกาสในการก้าว สู่การเรียนสายวิชาชีพ ที่ไม่ใช่เพียงแต่การเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนในเชิงทักษะปฏิบัติควบคู่กันไป และไม่ได้เรียนแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนที่ก้าวไปถึงมาตรฐานสากล เรียนในสาขาวิชาชีพแห่งอนาคต ที่เป็นความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น สาขาระบบราง สาขาวิชาอากาศยาน สาขาวิชาโภชนาการและอาหาร เพื่อสุขภาพ สาขาเกษตรดิจิทัล เป็นต้น โดยปีการศึกษา 2562 สอศ.มีนักศึกษาที่ไปฝึกงานระยะยาว 1 ปี และฝึกประสบการณ์วิชาชีพระยะสั้น 3 เดือน หรือ 6 เดือน รวมจำนวน 398 คน ใน 10 ประเทศทั้งในเอเชีย และยุโรป เช่นสาขาIT ไปฝึกที่ประเทศไต้หวัน สาขาเกษตรกรรม ไปฝึกที่ในประเทศเดนมาร์ก และประเทศอิสราเอล สาขาคหกรรมอาหาร ไปฝึกที่ประเทศเยอรมัน และประเทศอินโดนีเซีย
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมีนักศึกษาอาชีวะไทย ให้ความสนใจ เดินทางไปเรียนอย่างต่อเนื่อง คือสาขาวิชาระบบราง สาขาไฟฟ้า สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาโลจิสติกส์ สาขาก่อสร้างและโยธา สถาปัตยกรรม โดย สอศ.ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหลายสถาบัน เช่น ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น (Wuhun Railway Vocational College of Technology) หรือที่ Chongqing Technology and Business Institute ซึ่งมีนักศึกษาอาชีวศึกษาไปศึกษา ด้านวิชาชีพ กว่า 200 คน หรือสถานบันการอาชีวศึกษาในเมืองเทียนจิน นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่น สอศ.ก็มี การจัดการศึกษาในรูปแบบหลักสูตรพรีเมี่ยม อาชีวศึกษา 5 ปี เป็นการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งเป็นหลักสูตรมาตรฐานสากลภายใต้ความร่วมมือกับNational Institute of Technology สถาบัน KOSEN (สถาบันโคเซ็น) ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กล่าวปิดท้าย ว่าทั้งสอศ. และสพฐ. จะต้องร่วมกันพัฒนาให้ผู้เรียนมีความพร้อมตามคุณลักษณะของบุคคลที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องรอบรู้เรื่องภาษา มีทักษะวิชาชีพ ใสใจสิ่งแวดล้อม มีทักษะการคิดและการแก้ไขปัญหา มีความรู้เรื่องภาษา และการเป็นพลเมืองที่ดี อีกทั้งโลกในอนาคตเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวมเร็ว มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การที่นักเรียน นักศึกษา ได้ไปศึกษาหรือไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพในประเทศที่เป็นต้นแบบหรือมีความโดดเด่นในสาขาวิชาต่างๆ จะทำให้เกิดความรู้และทักษะที่แม่นยำมากขึ้น มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิต โดย สอศ. ได้วางเป้าหมายต่อไปว่าจะส่งนักเรียน นักศึกษา ไปฝึกประสบการณ์ต่างประเทศ ใน 10 สาขาวิชา ได้แก่ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ อากาศยาน เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ คหกรรม อาหารและโภชนาการ การท่องเที่ยว การโรงแรม สัตวศาสตร์ พืชศาสตร์ ประมง สารสนเทศ และดิจทัล สาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และสาขาที่เป็นไปตามนโยบายของประเทศ ซึ่งตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ ประกอบด้วย อิสราเอง เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เดนมาร์ก สิงคโปร์ บูรไน อังกฤษ นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ภายใต้ของตกลงระหว่าง สอศ. กับหน่วยงานของประเทศนั้น ๆ