กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ
บางครั้งการให้ความสำคัญกับกฎระเบียบที่หยุมหยิมมากเกินไป ก็อาจจะเป็นการสร้างปัญหาที่ซ้ำซ้อนวกวนให้กับระบบมากยิ่งขึ้น จนมิอาจจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและถูกต้องได้ อย่างเช่น ข่าวสารจากมาตรการที่รัฐบาลจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าหญ้าทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอท ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศเกี่ยวกับข้อบังคับในการใช้สารทั้ง 3 ชนิด โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรชาวไร่ชาวนาที่มีภาระในการดำรงชีวิตเพื่อปากท้องมากมายอยู่แล้ว จะต้องหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีก....จึงคาดเดาว่า.....เกษตรกรส่วนใหญ่จะสามารถปฏิบัติตามได้น้อยมาก
การผลักภาระให้กับพี่น้องประชาชนคนในประเทศ โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรที่อยู่กับไร่นา ต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนผู้ปลูก ผู้ใช้ การอบรม การทดสอบ แสดงบัตรประชาชนก่อนซื้อ และซื้อได้ตามปริมาณพืชที่ปลูก รวมถึงผู้รับจ้างฉีดพ่นต้องมีใบอนุญาต โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยสิ้นเชิง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปกป้อง คุ้มครอง กลุ่มผู้นำเข้าและขายสารพิษให้ดำรงคงอยู่ต่อไป และที่สำคัญในทางปฏิบัติน่าจะทำได้ยาก รวมถึงยังเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่มีข้ออ้างใช้บังคับกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อหากินกับพี่น้องเกษตรกรได้
"กฎระเบียบที่มากมาย คล้ายตราสังผูกมัดรัดตัวเกษตรกร และประเทศให้ยากจนและตกต่ำ เสมือนสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อง่ายต่อการปกครอง ง่ายต่อการตรวจสอบ เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่เกิดประโยชน์โดยตรงต่ออาชีพการเกษตรและพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ"
หลายภาคส่วนล้วนออกมาสนับสนุนและไม่เห็นด้วย แม้แต่ "อาจารย์ยักษ์" นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็เคยออกมาผลักดันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ด้วยการประกาศจุดยืนเป็นวาระแห่งชาติว่า "จะไม่มีลด หรือควบคุมการใช้ แต่ต้องเลิกใช้เท่านั้น" โดยท่านพร้อมเอาตำแหน่งเป็นเดิมพันจนมีกระแสข่าวว่าอาจถูกปลดจาก ครม. นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง เครือข่ายนักวิชาการ และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ที่ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาล ทบทวนมติ และกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากเป็นสารพิษอันตรายต่อคน สิ่งมีชีวิต มีพิษตกค้าง และทำลายสภาพแวดล้อม แต่ก็ได้คำตอบถึงเหตุผลที่ยังไม่พิจารณายกเลิกว่าเป็นเพราะ "ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ"
ในความเป็นจริงหลายประเทศทั่วโลกเขาเลิกใช้สารพิษเหล่านี้ไปตั้งนานแล้ว สำหรับในบ้านเราควรเริ่มจากการส่งเสริมเกษตรกรหัวก้าวหน้าหรือปราชญ์ชาวบ้าน ที่ได้พัฒนาหรือส่งเสริมสารทดแทนที่ปลอดภัยไร้สารพิษ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้คนเหล่านั้นสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ สารสกัดโรคแมลงศัตรูพืชจากสมุนไพร และกลุ่มชีวภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตามสภาพแวดล้อมภูมิประเทศของโซนเอเชีย หรือสภาพอากาศร้อนชื้น ก็จะเป็นการให้ประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค พี่น้องเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ลดการสูญเสียเงินตรานำเข้าสารพิษจากต่างประเทศอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีและชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องออกมาตรการต่าง ๆ ที่อ้อมค้อม ยุ่งยาก และไม่เกิดผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรและประเทศชาติแต่อย่างใด