กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กรมวิชาการเกษตร
ในช่วงนี้มักมีฝนตกชุก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนทุเรียนเฝ้าระวังโรครากเน่าโคนเน่าและโรคผลเน่า สามารถพบได้ในระยะติดผลและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต อาการที่ราก เริ่มแรกเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา ใบเหี่ยวลู่ลง กรณีที่โรครุนแรง ใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูที่ราก จะพบรากฝอยมีเปลือกล่อนเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล และมีอาการเน่าลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย อาการที่กิ่ง ลำต้น และโคนต้น ระยะแรกจะพบต้นมีใบเหลืองบางกิ่ง สามารถสังเกตเห็นรอยคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่งหรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นจะเห็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงออกมาจากบริเวณแผล และจะแห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าแผลขยายใหญ่จะลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ใบร?วงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย
ส่วนอาการที่ใบ ใบช้ำ ดำ มีรอยตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว พบระบาดมากในช่วงฝนตกหนักติดต่อกัน อาการที่ผล เริ่มแรกพบเปลือกผลเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำ ต่อมาจุดแผลจะลุกลามขยายใหญ่ขึ้นตามการสุกของผล กรณีที่มีความชื้นสูง จะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราบริเวณแผล ซึ่งพบได้ตั้งแต่ผลยังอยู่บนต้น หากรุนแรงมาก ผลทุเรียนจะเน่าและร่วงหล่นก่อนกำหนด สามารถพบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน หรือในช่วง 1 เดือนก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว
เกษตรกรควรตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคและเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นให้ทั่วทรงพุ่มด้วยสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 15 วัน ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
กรณีพบบนกิ่งหรือที่โคนต้น ให้เกษตรกรถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก จากนั้นทาแผลด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หากพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงา หรือใบเหลืองหลุดร่วง ให้ใช้สารฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการของโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น หรือราดดินด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้สลับกับสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อ น้ำ 20 ลิตร
เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยง การทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ที่เป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น และในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี หากมีน้ำท่วมขังให้รีบระบายน้ำออกทันที จากนั้น ให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงดินในแปลงปลูก และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรเมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรคทุกครั้งก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนต้นที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ควรขุดออกแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และราดดินด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้ตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงปลูกทดแทน ส่วนการเก็บผลทุเรียนต้องระวังไม่ให้ผลสัมผัสกับพื้นดินโดยตรง เกษตรกรควรปูพื้นดินด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาดเพื่อวางผลทุเรียน วิธีนี้จะช่วยลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับพื้นดินที่มีเชื้อสาเหตุโรคได้ และให้ระวังการขนย้ายไม่ให้เกิดบาดแผลขึ้นกับผลทุเรียน