กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
การมีแก๊สในท้องเป็นเรื่องปกติของระบบย่อยอาหาร แต่ถ้าหากมีแก๊สสะสมในลำไส้และไม่สามารถขับออกได้ เราอาจจะเริ่มรู้สึกแน่นท้องและไม่สบายตัวได้
ส่วนมากแก๊สเกิดจากอาหารที่เราทานเข้าไป อาหารนั้นจะถูกย่อยในครั้งแรกที่ลำไส้เล็กและส่วนที่ไม่ถูกย่อยจะเกิดการหมักอยู่ในลำไส้ใหญ่ที่มีแบคทีเรีย เชื้อราและยีสต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการย่อยอาหาร กระบวนการนี้จะทำให้เกิดแก๊ส และจะถูกขับออกมาโดยการผายลม
โดยอาหารที่มักจะทำให้เกิดแก๊ส เช่น อาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง อาหารไขมันสูง อาหารทอด อาหารเผ็ด น้ำอัดลม ถั่วต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีบางโรคที่อาจทำให้เกิดแก๊สส่วนเกินได้อย่างเช่น โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ภาวะพร่องเอนไซม์ แผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้แปรปรวน
การมีแก๊สในช่องท้องนั้นอาจจะทำให้เกิดอาการปวดได้ ซึ่งในผู้ป่วยส่วนใหญ่การปรับเปลี่ยนนิสัยการทานและอาหารที่ทาน เช่น เลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส ทานช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด หรือเดินย่อยหลังทานอาหาร ก็จะช่วยลดการเกิดแก๊สส่วนเกินได้ แต่ถ้าปรับเปลี่ยนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอื่นหรือไม่นั่นเอง