กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ดร. เทพีวรรณ จิตรวัชรโกมล นักวิทยาศาสตร์ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา เรื่อง "การพัฒนากระบวนการผลิตและมาตรฐานการทดสอบกระจกที่ใช้ในงานก่อสร้าง" ณ โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้ประกอบการผลิตกระจกแปรรูปสำหรับงานก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มนักศึกษา เข้าร่วมสัมมนา จำนวนกว่า 90 คน
อุตสาหกรรมกระจกเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมูลค่าการส่งออกของกระจกสูงถึงปีละหมื่นล้านบาท และกลุ่มงานวัสดุอัจฉริยะและเทคโนโลยีเคลือบผิว กองวัสดุวิศวกรรม มีเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมกระจก จึงได้ร่วมมือกับบริษัท เอจีซี แฟลทกลาส (ประเทศไทย) และบริษัท สแตนดาร์ด พลัส เซอร์วิส จำกัด จัดงานสัมมนานี้เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกระจกแปรรูปสำหรับงานก่อสร้าง ได้ทราบถึงเทคโนโลยีกระจกสำหรับอาคาร การทดสอบและมาตรฐานของกระจกอนุรักษ์พลังงาน มาตรฐานกระจกแผ่นและกระจกที่ใช้ในงานก่อสร้าง และ พ.ร.บ กฏหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้กระจกแต่ละประเภท อาทิเช่น กระจกนิรภัยหลายชั้น (มอก. 1222-2560) กระจกเทมเปอร์ (มอก. 965-2560) เป็นต้น เพื่อรองรับมาตรฐานกระจกจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ กระจกโฟลตใส กระจกโฟลตสีตัดแสง กระจกเทมเปอร์ และกระจกนิรภัยหลายชั้น ที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้เป็นมาตรฐานบังคับและมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งในการนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีแผนขอการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 สำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบกระจก เพื่อรองรับมาตรฐานดังกล่าว ภายในงานยังมีการสาธิตการทดสอบความแข็งแรงของกระจกนิรภัยจากกลุ่มผู้ประกอบการ โดยมีทีมงานนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มงานวัสดุอัจฉริยะและเทคโนโลยีเคลือบผิวให้ความรู้ตลอดการสัมมนา