กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ม.ศรีปทุม MOU สจล. เปิดหน้าใหม่วงการศึกษาไทย มหาวิทยาลัยรัฐ – เอกชน จับมือร่วมสร้างหลักสูตร สองปริญญา การตลาดดิจิทัล+วิศวกรรมอุตสาหการและระบบการจัดการเชิงดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) ผลิตบัณฑิตยุคดิจิทัล
ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(KMITL) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านหลักสูตร การตลาดดิจิทัล และ วิศวกรรมอุตสาหการและระบบการจัดการเชิงดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) (DMkt SPU & IEDMS KMITL) โดยมี ผศ.ดร.รวิภา อัครจินดานนท์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.ศรีปทุม พร้อมด้วย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในการ MOU ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตยุคดิจิทัล ณ ห้องประชุม 606 ชั้น 6 อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ MOU ในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นสำหรับแวดวงการการศึกษาของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยดังระดับแถวหน้าของรัฐและของเอกชน ได้ร่วมมือกันจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรสองปริญญา เพราะจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้หลักสูตรการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร พร้อมทั้งอัพเกรดองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและวิชาการใหม่ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยเรายังมีความต้องการบุคลากร ในการสร้างความแข็งแกร่งเพื่อพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาในขณะนี้ ต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างสถานบันการศึกษาที่มีศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยคณะบริหารธุรกิจ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการสร้างหลักสูตรปริญญาตรี สองปริญญาข้ามสถาบัน(Double degree)ด้านหลักสูตรการตลาดดิจิทัล และ หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการและระบบการจัดการเชิงดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) กล่าวว่า ความร่วมมือทางด้านหลักสูตรในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อตอบสนองวาระแห่งชาติในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ตรงกับความต้องการของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าในด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก นอกจากนี้จะยังมีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุนวิชาการ นักศึกษา และการจัดการเรียนการสอน โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบัน ตลอดจนการใช้ทรัพยากรและทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันของทั้งสองสถาบัน ซึ่งแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญและจุดเด่นต่างกัน ในทางปฏิบัติจึงเป็นการช่วยเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรทางด้านต่างๆร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกัน เพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย