iTAP เร่งยกระดับ SMEs อุตสาหกรรมยา หนุนทำระบบ ISO/IEC 17025 รองรับอนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday February 13, 2008 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--สวทช.
ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยให้มีศักยภาพตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 นั้นบุคลากรของผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ กระทั่งมีความรู้ ความเข้าใจในระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้การดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมยา เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนภาคเอกชนให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน และถ่ายทอดสู่พนักงานผู้ปฏิบัติงานทุกระดับที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน
นางสาวกฤตยา แสนสุรัตน์ ผู้จัดการแผนกบริการที่ปรึกษา ISO/IEC 17025 ฝ่ายบริการห้องปฏิบัติการ อุตสาหกรรมพัฒนา มูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร กล่าวว่า ระบบ ISO/IEC 17025 คือ มาตรฐานข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและหรือสอบเทียบ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถในการทดสอบหรือสอบเทียบของห้องปฏิบัติการ เป็นมาตรฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้ผลการทดสอบและหรือสอบเทียบที่มีความเที่ยงตรง แม่นยำเชื่อถือได้เป็นบรรทัดฐานการวัดและการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และยังช่วยขจัดอุปสรรคในการกีดกันทางการค้า อันเนื่องมาจากการทดสอบและลดการตรวจซ้ำจากประเทศคู่ค้า จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการนำไปใช้ในห้องปฏิบัติการทั้งของภาครัฐและเอกชน
จากความสำคัญดังกล่าวทางโครงการ iTAP จึงเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการในกลุ่มที่โครงการให้การสนับสนุนและมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและระบบประกันคุณภาพยาอยู่นั้น ควรจะมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในระบบ ISO/IEC 17025 จึงจัดโครงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 กับห้องปฏิบัติการทดสอบทางจุลชีววิทยาของโรงงานผู้ผลิตด้านยาแผนปัจจุบันขึ้น
นางสาวกฤตยา กล่าวต่อว่า ระบบ ISO/IEC 17025 จะเน้นที่ห้องปฏิบัติการโดยตรง ซึ่งห้องปฏิบัติการที่สามารถดำเนินการตามระบบได้ คือ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารทั้งหมด ห้องปฏิบัติการตรวจสอบทางด้านยา ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัด ห้องปฏิบัติการด้านฟิสิกส์ ปิโตรเคมี สิ่งแวดล้อม และห้องปฏิบัติการด้านยานยนต์และเครื่องกลต่างๆ
“ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ เกี่ยวกับระบบนี้ แต่ระบบนี้กลับมีข้อดีมากมาย อาทิ ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับในผลการทดสอบหรือสอบเทียบว่าได้มีการนำมาตรฐานสากลมาใช้ควบคุมในการดำเนินการอย่างมีคุณภาพและเป็นระบบ ช่วยขจัดปัญหาด้านวิชาการในการกีดกันทางการค้า ขจัดปัญหาการตรวจสอบซ้ำซ้อน สร้างความน่าเชื่อถือให้ห้องปฏิบัติการและหน่วยงานที่ห้องปฏิบัติการนั้นสังกัดอยู่ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและส่วนแบ่งทางการตลาด รวมถึงส่งเสริมเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีสำหรับห้องปฏิบัติการ ส่งเสริมภาพพจน์และการบริการของห้องปฏิบัติการ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ได้รับการยอมรับในทักษะและความสามารถ”
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จนั้นต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทีมงานและผู้บริหารระดับสูงที่ต้องมีความมุ่งมั่นในการที่จะทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการและนำไปใช้ในองค์กรอย่างจริงจัง ซึ่งผู้บริหารจะต้องจัดสรรบุคลากร และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการดำเนินการจัดทำระบบจนสำเร็จ และสิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งที่ได้จัดทำขึ้นมานี้จะต้องมีการนำไปปฏิบัติจริง
ในส่วนที่ทางโครงการ iTAP และสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันไทย (TPMA) ร่วมมือกันในครั้งนี้จะเน้นในเรื่องของการให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำระบบ ISO/IEC 17025 แก่ผู้ประกอบการที่สนใจโดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันเพื่อให้จัดทำระบบดังกล่าวจนสำเร็จ เพราะการทำระบบให้ก้าวล้ำหน้าย่อมได้เปรียบในเรื่องของส่วนแบ่งการตลาดที่มากกว่า อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับนานาประเทศอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ