กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
โรคไวรัสตับอักเสบ บี เป็นการอักเสบของตับ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดยเชื้อจะเข้าสู่เซลล์ตับและก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น ในบางกรณีผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ตับยังมีการอักเสบต่อเนื่องทำให้เป็นตับแข็งและอาจเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด
ไวรัสตับอักเสบ บี สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาหรือเข็มเจาะสักร่วมกัน หรือติดจากแม่ขณะคลอด
อาการของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี จะเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 45–90 วัน บางรายอาจจะนานถึง 180 วัน ผู้ป่วยที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดตามตัว มีไข้ แน่นท้อง ถ่ายเหลว เป็นอยู่ 4–15 วัน หลังจากนั้นจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อาการตัวเหลืองตาเหลืองจะหายไปภายใน 1–4 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์ จึงสามารถทำงานได้ปกติ สำหรับเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกคลอด อาจไม่มีอาการ
โรคไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนใหญ่จะหายเองได้ แต่จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งต้องรักษาโดยการให้ยาและอยู่ในความดูแลของแพทย์
โรคไวรัสตับอักเสบ บี ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ในการดูแลตัวเอง และบอกให้คนใกล้ชิดทราบ เพราะหากคนใกล้ชิดยังไม่มีภูมิคุ้มกันอาจต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน รวมถึงการดูแลตัวเองให้ดีด้วยการทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ งดบริจาคเลือด ไม่ดื่มแอลกอฮอร์ ไม่ใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และพักผ่อนให้เพียงพอ