กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--ล็อกซเล่ย์
"สวัสดิการที่ดีที่สุด คือการทำให้พนักงานมีความสุขทั้งกายและใจ" นี่เป็นแนวคิดที่ผู้บริหารล็อกซเล่ย์ยึดถือเป็นนโยบายหลักในการดูแลพนักงานมาโดยตลอด 80 ปีที่ผ่านมา นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรม "ก้าวไปด้วยกัน เดิน - วิ่ง 80,000 กิโล" เป้าหมายเพื่อมอบเงินบริจาคให้กับโรงพยาบาลศิริราช ควบคู่กับหยิบยื่นสุขภาพดีให้กับพนักงานล็อกซเล่ย์ทุกคน
นายจรัสพงศ์ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้ ล็อกซเล่ย์มีอายุครบ 80 ปี จึงอยากจะจัดกิจกรรมพิเศษที่ทุกคนในองค์กรสามารถมีส่วนร่วมได้ และต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรม "ก้าวไปด้วยกัน เดิน-วิ่ง 80,000 กิโล" ซึ่งคนในองค์กรทั้งหมดได้ทำภารกิจที่มีเป้าหมายเดียวกันผ่านกิจกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ รวมถึงนักกีฬาคนพิการซึ่งอยู่ในสังกัดล็อกซเล่ย์ และ ASM (บริษัท รักษาความปลอดภัย เอเอสเอ็ม แมเนจเมนท์ จำกัด) กติกาคือ ทุกคนสามารถไปเดิน-วิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงชักชวนครอบครัวของตนเองมาวิ่งด้วยก็ได้ หลังจากนั้นให้นำระยะทางเดิน-วิ่งมากรอกในระบบที่ทีมงานจัดเตรียมไว้ โดยกำหนดเป้าหมายในการเดิน-วิ่งสะสมระยะทางให้ครบ 80,000 กิโลเมตรภายในระยะเวลา 44 วัน ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 9 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันไปถึงเป้าหมาย ล็อกซเล่ย์จะบริจาคเงินจำนวน 200,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ซึ่งเป็นอาคารหลังสุดท้ายที่ในหลวง ร.9 ทรงพระราชทานนามไว้
"เป็นที่น่าภูมิใจที่ชาวล็อกซเล่ย์ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เดิน-วิ่งสะสมระยะทางได้เกินเป้าหมาย จนทะลุไปถึง 206,454.4 กม. บริษัทฯ จึงเพิ่มเงินบริจาคเป็น 300,000 บาท และได้ทำการมอบให้กับทางโรงพยาบาลศิริราชไปเรียบร้อยแล้ว โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้รับมอบ เมื่อเร็วๆนี้"
กว่าจะมาถึงสองแสนกิโลฯ
ในวันแรกที่เปิดตัวโครงการฯ และโปรโมทออกไปในหมู่พนักงาน ผ่านคลิปวีดีโอ โซเชียลมีเดีย และป้ายประกาศต่างๆ ทุกช่องทาง รวมถึงใช้การสื่อสารกันภายในทีมผ่านหัวหน้างาน แต่พบว่าในช่วงสัปดาห์แรก ระยะทางสะสมเพิ่มขึ้นช้ามาก ทำให้ทีมงานต้องกลับมานั่งวางแผนกันว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานร่วมมือกันมากขึ้น จึงได้กลยุทธ์กำหนดเป้าหมายย่อยร่วมกัน โดยแบ่งสัดส่วนตามกลุ่มธุรกิจและให้หัวหน้ากลุ่มนำทีมลูกน้องของตนเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ระยะทางสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแล้ว เรายังได้เห็นวิธีการบริหารทีมของหัวหน้างานในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย อาทิ คุณธงชัย ล่ำซำ ประธานกรรมการบริษัท ใช้วิธีลงมือทำเป็นตัวอย่างให้พนักงาน โดยส่งระยะทางเดินให้ทีมทุกวัน วันละ 5 กม. คุณศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายธุรกิจไอที ใช้กลยุทธ์กระตุ้นพนักงานทุกวันผ่านอีเมล์ตามสไตล์คนไอที ขณะที่คุณนิมิตร ประเสริฐสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายธุรกิจพลังงาน เน้นที่การพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับพนักงาน ปลุกเร้าให้ลุกขึ้นมาเริ่มต้นออกกำลังกายและทำบุญไปในตัว
"ผู้บริหารอีกส่วนหนึ่งใช้กลยุทธ์คลุกวงในแบบวิ่งด้วยกันสนุกกว่า เช่น ดร.สมภพ เจริญกุล รองประธานกรรมการบริหาร ใช้วิธีชักชวนลูกน้องไปเดิน-วิ่งพร้อมกันทีละหลายสิบคน ทุกเย็นวันศุกร์ที่สวนเบญจกิติ ซึ่งอยู่ใกล้ตึกล็อกซเล่ย์ ทำให้ช่วยทีมสะสมระยะทางได้ครั้งละเป็นร้อยกิโลเมตร และแต่ละครั้งก็ไม่ชวนไปวิ่งเปล่าๆ ยังใจดีนำแซนวิชไปแจกจ่ายให้นักวิ่งหลังจากออกกำลังกายอีกด้วย เช่นเดียวกับ คุณกาญจน์ ทองใหญ่ รองกรรรมการผู้จัดการใหญ่ และเป็นบิ๊กบอสของบริษัท ASM ที่มีพนักงานหลายพันคน ก็ใช้วิธีชักชวนลูกน้องที่ประจำอยู่สนามบินสุวรรณภูมิไปวิ่งด้วยกันที่สกายเลนสุวรรณภูมิ ออกวิ่งแต่ละครั้งมีคนร่วมอย่างน้อย 80 คน ช่วยเก็บระยะทางสะสมได้เป็นกอบเป็นกำ เรียกว่าได้ทั้งสุขภาพและความสนุก"
ความสำเร็จที่ยั่งยืน
ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า กิจกรรมก้าวไปด้วยกันฯ ทำให้พนักงานหลายๆคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง เริ่มเดิน-วิ่งกับเพื่อนร่วมงาน บางแผนกบางฝ่ายนัดร่วมตัวกันไปเป็นทีม ถึงขนาดทำเสื้อทีมขึ้นมาเองก็มี กลายเป็นบรรยากาศน่ารักๆเกิดมิตรภาพที่ดีในสังคมที่ทำงาน คนต่างฝ่ายต่างแผนกได้มาเจอกัน พูดคุยถึงเป้าหมายร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ฝ่ายบัญชีการเงินที่นั่งทำงานอยู่กับตัวเลขทั้งวัน ก็ลุกขึ้นมาวิ่งเพื่อให้ทีมไปถึงเป้าหมายและอยากทำบุญ บางคนป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคความดัน ซึ่งคิดว่าวิ่งไม่ไหวแน่ๆ ก็ก้าวข้ามข้อจำกัดมาได้ ทำให้สุขภาพดีขึ้น นับเป็นโครงการที่กระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวออกกำลังกายได้อย่างได้ผล
"กิจกรรมก้าวไปด้วยกันฯ ฉีกกฎการออกกำลังกายเดิมๆ เพราะทำได้ทุกที่ทุกเวลา แถมยังชวนครอบครัวมาเดิน-วิ่งร่วมกันสะสมระยะทางได้ด้วย เป็นที่น่าดีใจที่กิจกรรมนี้ช่วยเปลี่ยนคนให้หันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น แม้ว่ากิจกรรมจะจบไปแล้ว หลายคนก็ยังคงออกกำลังกายต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความสำเร็จที่ไม่อาจตีเป็นมูลค่าได้" นายจรัสพงศ์ กล่าว