กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติเพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากภัยแล้ง โดยภาคประชาชนควรเตรียมภาชนะกักเก็บน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัด เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ หมั่นตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ ส่วนภาคเกษตรกรควรติดตามสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ เพื่อวางแผนใช้น้ำอย่างสอดคล้อง รวมถึงปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย สำหรับภาคอุตสาหกรรมควรจัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำไว้ใช้ ตรวจสอบระบบการจัดสรรน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงเลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีประหยัดน้ำ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ภัยแล้งเป็นภัยที่เกิดจาก การขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ดังนี้ ภาคประชาชน ใช้น้ำอย่างประหยัด เปิดและปิดก๊อกน้ำ ให้สนิททุกครั้ง ใช้ภาชนะรองน้ำพร้อมนำน้ำที่เหลือไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เตรียมภาชนะไว้กักเก็บน้ำ โดยจัดหาและซ่อมแซมให้พร้อมสำหรับสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ โดยติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่ก๊อกน้ำ ฝักบัว หรือชักโครก เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำและลดปริมาณการใช้น้ำ รวมถึงหมั่นตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ โดยปิดก๊อกน้ำทุกตัว จดเลขมาตรวัดน้ำไว้ หากตัวเลขเปลี่ยนแปลงแสดงว่ามีน้ำรั่วซึมให้รีบดำเนินการซ่อมแซม เกษตรกร ควรรักษาความชื้นในดิน โดยการไถพรวนดินอยู่เสมอ ไม่เผาตอซัง รวมถึงนำวัสดุมาคลุมหน้าดิน อาทิ ฟางข้าว แกลบ ขี้เลื่อย หรือพลาสติก พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำ และแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ เพื่อวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ รวมถึงสร้างระบบกักเก็บน้ำ ในพื้นที่ อาทิ ขุดร่องน้ำ หรือใช้ระบบน้ำบาดาล และทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย อาทิ น้ำพลาสติกคลุมดิน ใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่เพาะปลูก สำหรับการจัดการพืช ควรปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย อาทิ ถั่วลิสง ข้าวโพด รวมถึงงดทำนาปรังช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันนาข้าวเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ควรจัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ ตรวจสอบระบบการจัดสรรน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงเลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีประหยัดน้ำ เพื่อลดการสิ้นเปลืองน้ำ และนำน้ำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ การใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยลดการใช้น้ำ ใช้น้ำซ้ำ และนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ตามหลัก 3R(Reduce,Reuse,Recycle) รวมถึงการวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำและปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ จะช่วยลดผลกระทบวิกฤตขาดแคลนน้ำได้