กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์
คงปฎิเสธไม่ได้ว่า "ชุมชนน่าอยู่" เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ส่งให้ทุกโครงการที่บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) พัฒนาขึ้น ได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดการพัฒนาโครงการด้วยการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้วัฒนธรรม "ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน" ที่มุ่งสร้างความสุขที่แท้จริงของการอยู่อาศัยให้กับสมาชิกลุมพินีมาโดยตลอด
นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ LPN เปิดเผยว่า 30 ปีแล้วที่ LPN สร้างชุมชนน่าอยู่ให้เกิดขึ้นในทุกโครงการที่เราพัฒนา เพราะเชื่อว่าจะส่งเสริมให้สังคมดี คุณภาพชีวิตผู้พักอาศัยดี รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนั้นยังช่วยสร้างจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ทั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด เจ้าของร่วม และผู้พักอาศัย ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการร่วมสร้างสรรค์ "ชุมชนน่าอยู่" ผ่านการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และร่วมมือร่วมใจทำให้เกิดขึ้นจริง
"สำหรับ โครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา เป็นโครงการที่นำแนวทาง Eco Design มาใช้ในการออกแบบ ภายใต้แนวคิด "LPN GREEN" มีการวางผังโครงการให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ของ LEED โดยเน้นถึงจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (CESR) เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้พักอาศัยอย่างยั่งยืน"
อาคารแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นด้านการออกแบบอาคารที่วางในตำแหน่งทิศเหนือและทิศใต้ มีการใช้กระจก 2 ชั้น เพื่อป้องกันความร้อน และละอองฝุ่นจากภายนอกเข้าภายในอาคาร รวมถึงสามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ถึง 2-3 องศา มีพื้นที่สีเขียวเกินกว่าที่ทางกฎหมายกำหนด ต้นไม้ที่ปลูกเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่คัดเลือกมาให้เหมาะกับพื้นที่โครงการ ดูแลง่าย ใช้น้ำไม่มาก แต่สามารถให้ความร่มเย็น และคายออกซิเจนได้จำนวนมาก ส่วนปุ๋ยที่ใช้ก็เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ไม่มีสารเคมี ช่วยให้ผู้พักอาศัยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
โครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา แห่งนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของ "ชุมชนน่าอยู่" ที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและเจ้าของร่วมได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์โครงการดีๆ ด้วยการริเริ่มของนายรักชัย มาศฉมาดล อดีตประธานกรรมการเจ้าของร่วมโครงการ กับแนวคิดการประหยัดค่าไฟฟ้า โดยในช่วงแรกได้ใช้วิธีเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED แต่กลับลดค่าไฟฟ้าได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น ต่อมาจึงใช้วิธีเปิดไฟทางเดินดวงเว้นดวงในเวลาหลัง 22.00 น. แต่ค่าไฟฟ้าก็ยังลดลงไม่มาก
แต่หลังจากที่ได้เข้าอบรมเรื่องโซลาร์ เซลล์ ทำให้รู้ว่าราคาของแผงโซลาร์ เซลล์ ลดลงมาก การดูแลง่าย อายุการใช้งานและระยะรับประกันนานถึงกว่า 20 ปี ซึ่งหากติดตั้งแล้วจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าลง 15-20% และหลังจากที่นำไฟฟ้าจากโซลาร์ เซลล์ไปใช้งานได้เต็มที่ 100% จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้สูงสุด 13,600 หน่วยต่อเดือน คิดเป็นค่าไฟฟ้า 57,500 บาทต่อเดือน เลยมีความคิดจะนำมาใช้ในโครงการโดยปรึกษากับทีมวิศวกร LPN ถึงความเป็นไปได้ โดยปัจจุบันโครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา ได้ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปบนชั้นบนสุดของอาคารเพื่อนำไฟฟ้าไปใช้ในอาคาร A และ B
นอกจากติดตั้งโซลาร์ เซลล์แล้ว ทางโครงการยังต่อยอดสนับสนุนเรื่องลดโลกร้อน ด้วยการติดตั้ง EV charger แบบชาร์จเร็ว ใช้งบลงทุนประมาณ 100,000 บาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้พักอาศัยหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงรองรับรถพลังงานที่มีแนวโน้มจะมีผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ในโครงการมีเจ้าของร่วมใช้รถพลังงานไฟฟ้า 2 คัน และเชื่อว่า เมื่อในโครงการมี EV charger จะทำให้ลูกบ้านตัดสินใจใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
หลังจากโครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปบนชั้นบนสุดของอาคาร A และ B แล้วนั้น เร็วๆ นี้กำลังจะขยายผลไปยังอาคาร C และ D พร้อมกับโครงการลุมพินี เพลส พระราม 8 ที่ปัจจุบันได้นำเสนอผ่านการประชุมใหญ่สามัญประจำปีไปแล้ว คาดว่าใช้เวลาไม่นานในการดำเนินการติดตั้ง นอกจากนี้ ยังมีโครงการลุมพินี ทาวเวอร์ และมาร์เก็ตเพลส รังสิต-คลอง 1 ที่อยู่ระหว่างให้ทีมช่าง และวิศวกรของ LPN ศึกษาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
"สำหรับโครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา ผมหวังว่าจะเป็นชุมชนต้นแบบประหยัดพลังงานให้ชุมชนอื่นนำไปใช้ได้ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดโลกร้อน และเป็นการนำพลังงานสะอาดมาใช้ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนนั้นๆ อีกด้วย" นายรักชัย กล่าวทิ้งท้าย