กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--Midas Communications International
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจร้านอาหารร่วมผลักดันด้านการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอาหาร เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมนำร่องใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอาหารกับแบรนด์ร้านอาหารในเครือ
นอกจากการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมความสะดวกสบายเป็นหลักแล้ว เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ยังคำนึกถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ด้วยการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่เหมาะสมกับประเภทอาหาร เพราะถ้วยโฟมหรือกล่องพลาสติกมีสารพิษปนเปื้อนที่มีสารเคมีเป็นส่วนซึ่งอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น และยากต่อการย่อยสลายทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย แต่บรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษนั้นง่ายต่อการย่อยสลาย และสามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้
เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่เหมาะสมกับประเภทอาหาร โดยเริ่มใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษนี้กับแบรนด์ร้านอาหารในเครือ เริ่มจาก 3 แบรนด์ยอดนิยม อย่าง ตำมั่ว มุฉะ และเขียง ซึ่งจะใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษกับเมนูอาหารในรูปแบบบริการเดลิเวอรี่และอาหารสำหรับสั่งกลับบ้าน และมีแผนที่จะใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษกับแบรนด์อื่นๆ ในเครืออีกเช่นกัน โดยเซ็นฯ มุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ พร้อมส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว "เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราจึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้ การหันมาใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยของอาหารเช่นกัน เราอยากให้ลูกค้าของเราได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งรสชาติ คุณภาพอาหาร และความปลอดภัย การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่เหมาะสมกับประเภทอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถมองข้ามได้"
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนขยะจากพลาสติกเพิ่มมากขึ้นประมาณปีละมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด และมีขยะประมาณ 1 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล ซึ่งขยะพลาสติกที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ ถุง (13%) หลอด (10%) ฝาพลาสติก (8%) และภาชนะบรรจุอาหาร (8%) การหันมาใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่เหมาะสมกับประเภทอาหารและสามารถรีไซเคิลได้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ